วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2021 ณ กรุงปักกิ่ง ขณะเข้าร่วม “การประชุมสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ” ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้อรรถาธิบายอย่างเป็นระบบและรอบด้านเป็นครั้งแรกถึงแนวคิดว่าด้วย “ประชาคมแห่งชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติ” ซึ่งถือเป็นการเสนอแนวทางของจีนเกี่ยวกับการรับมือความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของทั่วโลก แนวคิดนี้ได้ขยายรายละเอียดในด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษย์ ซึ่งริเริ่มโดยปธน.สี จิ้นผิง ทั้งนี้ได้ส่งสัญญาณอันแรงกล้าที่จีนจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแบบสีเขียว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตสูญเสียความหลากหลาย ความเป็นทะเลทรายทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ตลอดจนเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ได้สร้างความท้าทายอันหนักหน่วงต่อการดำรงอยู่และการพัฒนาของมนุษยชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศรายงานระบุว่า ปีค.ศ. 2020 เป็น 1 ใน 3 ปีที่อากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่มนุษย์ทำการบันทึกสถิติเป็นต้นมา น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุลมแรง และภัยพิบัติทางอากาศอื่น ๆ ตลอดจนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ซัดกระหน่ำประชากรกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ทั้งยังทำให้วิกฤตต่าง ๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งรวมถึงวิกฤตความมั่นคงทางอาหารด้วย ข้อเท็จจริงอันหนักหน่วงพิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่า มนุษย์จะเดินบนหนทางเก่าที่เอาแต่การพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ไม่ได้อีกแล้ว จำต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับระบบนิเวศให้ดี ใช้ปฏิบัติการอันแท้จริงร่วมกันคุ้มครองโลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่เป็นแหล่งร่วมดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ
ในที่ประชุม“การประชุมสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ”ครั้งนี้ ปธน.สี จิ้นผิงอธิบายหลักการและลู่ทางแห่งการร่วมสร้างสรรค์ “ประชาคมแห่งชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติ” ด้วย “การยึดมั่น 6 ประการ” ซึ่งรวมถึงการยึดมั่นหลักการที่มนุษย์กับธรรมอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ยึดมั่นหลักการพัฒนาแบบสีเขียว ยึดมั่นการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ยึดมั่นหลักการที่ถือประชาชนเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นลัทธิพหุภาคี และยึดมั่นหลักการแสดงความรับผิดชอบที่มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง ทั้งนี้ได้ชี้นำทิศทางแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
ความจริงแล้วในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ทุ่มเทใช้มาตรการอย่างจริงจังเพื่อปฏิบัติตาม “แนวคิดสีเขียว” ที่ปธน.สี จิ้นผิงได้กล่าวย้ำในที่ประชุมครั้งนี้ จีนได้กำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติเกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้เร่งฝีก้าวแห่งการผลักดันการพัฒนาแบบสีเขียวและคาร์บอนต่ำผ่านมาตรการในด้านต่าง ๆ เช่น กฏหมาย การปกครอง เทคโนโลยีและการตลาด เป็นต้น แนวคิด “น้ำใสและภูเขาเขียวคือภูเขาเงินภูเขาทอง” ได้กลายมาเป็นความรับรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางและแนวทางชี้นำปฏิบัติการของทุกฝ่ายในจีน
ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 75 เมื่อปีที่แล้ว ปธน. สี จิ้นผิงได้ประกาศว่าจีนจะพยายามบรรลุ “การปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด” ก่อนปีค.ศ. 2030 และ“การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ก่อนปีค.ศ. 2060 ในที่ประชุมสุดยอดครั้งนี้ นายสี จิ้นผิงได้เสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมประการต่าง ๆ อีกระดับ เช่น การสนับสนุนท้องที่ แขนงงานและวิสาหกิจสำคัญที่มีความพร้อมนำหน้าบรรลุการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด การควบคุมการบริโภคถ่านหินอย่างเข้มงวดใน 5 ปีข้างหน้า การเริ่มเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนทางออนไลน์ในขอบเขตทั่วประเทศ และการกวดขันควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มิใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวชี้ว่า หากเปรียบเทียบแล้ว ระยะเวลาแห่ง “การบรรลุการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด” สู่ “การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ที่จีนให้คำมั่นสัญญาไว้นั้น จะสั้นกว่าระยะเวลาที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้เป็นอย่างมาก จำต้องการจีนใช้ความพยายามด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง เป้าหมายแห่ง “การปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด” และ “การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ตามที่จีนได้ประกาศแล้วนั้น ได้สะท้อนความต้องการ “ระดับสูงสุด” ของ “ข้อตกลงปารีส” ซึ่งถือเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของจีนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามการวิเคราะห์ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง คำมั่นสัญญาของจีนเกี่ยวกับ“การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” จะช่วยให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกลดลง 0.2-0.3 องศาเซลเซียส
ปัจจุบันจีนได้บรรลุผลสำเร็จเกินเป้าหมายของปฏิบัติการด้านดินฟ้าอากาศปี 2020 สัดส่วนการบริโภคพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลของจีนได้เพิ่มมากขึ้นถึง 15.3% กำลังผลิตติดตั้งด้านพลังงานหมุนเวียนของจีนครองสัดส่วน 30% ของทั่วโลก ปริมาณยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนครองสัดส่วนกว่า 50% ของทั่วโลก ระหว่างปี 2000-2017 ในพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นใหม่ของทั่วโลกมีมากกว่า 1 ใน 4 มาจากประเทศจีน แนวคิดและประสบการณ์ของจีนในด้านส่งเสริมการสร้างสรรค์อารยธรรมระบบนิเวศและผลักดันการพัฒนาแบบสีเขียวนั้น ได้มอบข้อคิดและแบบอย่างแก่ทั่วโลก นำไปสู่การสร้างคุณูปการอันสำคัญต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
การแบกรับพันธกิจและการใช้ปฏิบัติการอย่างจริงจังและน่าตื่นเต้นที่จีนแสดงออกให้เห็นในฐานะประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบนั้น ได้ช่วยฟื้นฟูความมั่นใจในการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศโลก ปัจจุบัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ เป็นต้น ต่างก็ได้ทยอยประกาศเป้าหมายแห่ง “การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” หรือเป้าหมายการลดคาร์บอนของตนตามลำดับ โดยสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ถึงปี 2030 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลง 50% -52% เมื่อเทียบกับปี 2005
เมื่อเผชิญความยากลำบากที่ไม่เคยมีมาก่อนในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ปธน.สี จิ้นผิงกล่าวเรียกร้องในที่ประชุมสุดยอดให้ประชาคมโลกจำเป็นต้องใช้ความมุ่งมั่นและปฏิบัติการอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน แสดงความรับผิดชอบอย่างกล้าหาญ และร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ “ประชาคมแห่งชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติ” ในขณะเดียวกัน เขาได้กล่าวย้ำอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของจีนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และส่งสัญญาณอันแรงกล้าที่จีนจะทุ่มเทขับเคลื่อนการพัฒนาแบบสีเขียวอย่างเต็มที่ว่า จีนได้บรรจุแนวคิดและการสร้างสรรค์อารยธรรมระบบนิเวศไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และรวมเข้าอยู่ในโครงสร้างโดยรวมแห่งสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีน จีนถือแนวคิดว่าด้วยอารยธรรมระบบนิเวศเป็นแนวคิดชี้นำ ปฏิบัติตามแนวคิดใหม่แห่งการพัฒนา ถือการเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นแบบสีเขียวอย่างทั่วด้านเป็นแนวคิดชี้นำการพัฒนา ถือการพัฒนาพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำเป็นกุญแจสำคัญ ยืนหยัดเดินบนหนทางแห่งการพัฒนาที่ถือระบบนิเวศมีความสำคัญลำดับแรก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ
YIM/LU