การประชุมสมัชชาใหญ่อนามัยโลก ครั้งที่ 74 จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน ค.ศ. 2021 ข่าวสารจากที่ประชุมครั้งนี้เตือนชาวโลกอีกครั้งว่า ในเรื่องการระบาดของโควิด-19 นั้น “ทุกประเทศจำต้องดูแลตัวเองให้ดีและช่วยเหลือผู้อื่น”
ภายใต้ภูมิหลังที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 1 ปี การทบทวนประสบการณ์และบทเรียนจากการรับมือกับโควิด-19 ของโลก ตลอดจนแสวงหาวิธีการเอาชนะโควิด-19 โดยเร็วที่สุดนั้น จึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญของที่ประชุมสมัชชาใหญ่อนามัยโลกในครั้งนี้
องค์การอนามัยโลกแถลงว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อทุกประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดต่อชุมชนที่อ่อนแอและเปราะบาง จากข้อมูลพบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 40 เท่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 11 เท่า ขณะที่หนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน คือ การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยุติการระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวของโลก ปัจจุบันวัคซีนจำนวนกว่า 75% ถูกใช้เพียงใน 10 ประเทศ ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำสุดเข้าถึงวัคซีนไม่ถึง 0.5% ของจำนวนวัคซีนทั่วโลก
รายงานที่เกี่ยวข้องขององค์การอนามัยโลก ระบุด้วยว่า องค์การอนามัยโลกจำต้องเพิ่มความพยายามเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ได้ ด้วยเหตุนี้ควรใช้แนวทางพหุภาคีในการยับยั้งโรคระบาดทั่วโลก การต้านโควิด-19 เฉพาะในบางประเทศหรือบางภูมิภาคเท่านั้นถือเป็นเรื่องซึ่งไร้ความหมาย
ข้อเท็จจริงที่การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลกในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่าน เตือนชาวโลกหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า ไวรัสฯ ไม่มีพรมแดน โรคภัยไม่แบ่งชาติพันธุ์ ภายใต้สถานการณ์ที่ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประสานความร่วมมือเข้าด้วยกันอย่างลึกซึ้งจนกลายเป็น “หมู่บ้านโลก” ซึ่งเป็นกระแสที่มิอาจหวนกลับได้นั้น หากประเทศใดเกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงก็จะส่งผลกระทบต่อทั่วโลกได้ เมื่อเผชิญกับวิกฤตใครก็ไม่อาจอยู่ได้โดยลำพัง และมนุษย์มีอนาคตร่วมทุกข์ร่วมสุข ดังนั้นทุกประเทศควรดำเนินการป้องกันควบคุมโควิด-19 ให้ดี ในขณะเดียวกันก็ควรให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศอ่อนแออย่างเต็มกำลังความสามารถ
แต่ทว่าพฤติกรรมของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วอันดับหนึ่งของโลก ในเหตุการณ์โควิด-19 ครั้งนี้นั้นได้สร้างความผิดหวังแก่ผู้คนทั้งหลายเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการป้องกันควบคุมโรคภายในประเทศของตน จนทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมหาศาลซึ่งสร้างความปวดร้าวใจเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น หากยังมีการกระทำอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ นานา อีกด้วย เช่น การแย่งชิงวัคซีน การกักตุนวัคซีนเกินความต้องการที่แท้จริงของประชากรในประเทศ ตลอดจนการใช้ประเด็นโรคระบาดเป็นเกมทางการเมือง เป็นต้น สิ่งที่สหรัฐฯ ทำนั้นได้บ่อนทำลายความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้กับโรคระบาด ทั้งยังสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เองด้วย
ปัจจุบันยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือในการต่อต้านโรคระบาดอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดหาและแบ่งปันวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประชาคมโลกหวังว่าสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่น ๆ จะปรับตัวโดยเร็วที่สุดเพื่อให้โลกได้เห็นถึงความรับผิดชอบและบทบาทที่ตรงกับสถานะของพวกเขาในฐานะมหาอำนาจ สร้างคุณูปการอันพึงมีต่อการเอาชนะโควิด-19 ของโลกในที่สุด
ตรงข้ามกับสหรัฐฯ จีนไม่เพียงแต่สามารถป้องกันและควบคุมโควิด-19 ได้ค่อนข้างดีและบรรลุการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากยังสร้างคุณงามความดีอย่างแข็งขันต่อความร่วมมือต่อสู้กับโรคระบาดระดับโลก ซึ่งทำให้ชาวจีนรู้สึกภาคภูมิใจและชาวโลกชื่นชม
ในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่นานาประเทศนั้น นับจนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 ภายใต้สภาพที่มีกำลังการผลิตจำกัดและตัวเองมีความต้องการอย่างมหาศาล จีนได้ให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 80 ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ส่งออกวัคซีนไปยัง 43 ประเทศ รวมแล้วจีนได้ส่งมอบวัคซีนแก่ทั่วโลกจำนวน 300 ล้านโดส จีนให้ความช่วยเหลือ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สำหรับการต่อสู้กับโรคระบาดและฟื้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ต้านโรคระบาดแก่กว่า 150 ประเทศและ 13 องค์กรระหว่างประเทศ ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยมากกว่า 280,000 ล้านชิ้น ชุดป้องกันมากกว่า 3,400 ล้านชุด และชุดทดสอบเชื้อมากกว่า 4,000 ล้านชุดแก่ทั่วโลก โครงการโรงพยาบาลจับคู่ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างจีนกับแอฟริกาได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 41 คู่แล้ว จีนปฏิบัติตาม “ข้อริเริ่มพักชำระหนี้แก่ประเทศยากจนที่สุด” ที่ริเริ่มโดยกลุ่มประเทศ G20 อย่างรอบด้าน โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศ G20
ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีนยังให้คำมั่นสัญญาใหม่ 5 ประการสำหรับการสนับสนุนความร่วมมือต่อสู้กับโควิด-19 ทั่วโลกในที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยสุขภาพแห่งโลก ซึ่งรวมถึงจีนจะให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาต้านโควิด-19 รวมทั้งฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จีนจะส่งมอบวัคซีนมากยิ่งขึ้นแก่นานาประเทศต่อไปอย่างเต็มกำลังความสามารถ จีนสนับสนุนธุรกิจผลิตวัคซีนจีนให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาและร่วมกันดำเนินการผลิต จีนสนับสนุนการยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 จีนริเริ่มให้เปิดฟอรั่มระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีน เพื่อให้ประเทศและวิสาหกิจที่วิจัยและพัฒนาวัคซีน ตลอดจนฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกันปรึกษาหารือเกี่ยวกับวิธีการผลักดันให้มีการแบ่งปันวัคซีนอย่างสมเหตุสมผลและยุติธรรมทั่วโลก
ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความระบุว่า คำพูดของปธน.สี จิ้นผิง ชี้ถึงความจริงใจ ความเข้าใจสถานการณ์ และความเห็นใจแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกชาติร่ำรวยหรือยากจน ที่น่าสนใจคือจีนพยายามให้โลกเห็นบทบาทในแบบที่ไม่วางตัวเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ เพราะการช่วยเหลือของจีนเป็นไปอย่างไร้เงื่อนไข ทั้งยังแสดงจุดยืนให้ประเทศที่มีศักยภาพมาร่วมมือในการต่อสู้กับโควิด-19
ปัจจุบันควบคู่ไปกับการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องในอินเดีย เอเชียกลายเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดแห่งใหม่ ซึ่งถือเป็นบททดสอบอันหนักหน่วงต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ขณะเดียวกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียยังได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของโลกด้วย ดังนั้น “จัดการตัวเองให้ดีและช่วยเหลือผู้อื่นให้มากที่สุด” ควรเป็นความพยายามร่วมกันและปฏิบัติการที่จริงจังของทุกประเทศบนโลก มีเพียงประเทศต่าง ๆ กวดขันการป้องกันและควบคุมโรคระบาดภายในประเทศพร้อมไปกับความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางด้วยความสามัคคีที่จริงใจและการประสานงานอย่างใกล้ชิดเท่านั้น จึงจะสามารถยับยั้งโรคร้ายแรงที่ยังคงระบาดทั่วโลกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกันเอาชนะวิกฤตครั้งรุนแรงที่สุดที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
TIM/LU