เมื่อตอนเช้าวันที่ 17 มิถุนายน ปี 2021 ที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศเสินโจว-12 พร้อมนักบินอวกาศจำนวน 3 คนขึ้นสู่อวกาศและเข้าสู่วงโคจรตามกำหนด ทั้งนี้นับเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าภารกิจการสร้างสถานีอวกาศของจีนได้มีผลคืบหน้าสำคัญอีกครั้ง และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง
โอกาสนี้ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) โดยแสดงมุมมองว่า ความสำเร็จในภารกิจเสินโจว-12 ถือเป็น
เครื่องบ่งชี้ศักยภาพของจีนในการเดินตามฝันด้านอวกาศของมนุษย์
ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์กล่าวว่า ความสำเร็จในภารกิจเสินโจว-12 ไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จในการเริ่มงานก่อสร้างสถานีอวกาศโดยมีมนุษย์ควบคุมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ศักยภาพของจีนในการเดินตามฝันด้านอวกาศของมนุษย์ ยานอวกาศเสินโจว-12 ช่วยตอกย้ำความสามารถในการเข้าสู่วงโคจรรอบโลกรวมทั้งสำรวจพื้นที่ในจักรวาลด้วยเทคโนโลยีของจีนเอง
จริงๆ แล้วอวกาศสำหรับจีนคือความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง จีนมุ่งกิจการด้านอวกาศเพื่อกระตุ้นการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการสร้างภาพจีนใหม่ให้เป็นชาติแห่งอนาคตที่มีความตื่นตัวทางเทคโนโลยีสูงสุด นับตั้งแต่ประกาศเส้นทางสู่มหาอำนาจด้านนี้ในปี 2016 จีนประสบความสำเร็จมาโดยตลอด สามารถจอดยานสำรวจบนอีกด้านของดวงจันทร์ในเดือนมกราคมปี 2019 นำตัวอย่างดวงจันทร์กลับมายังโลกในเดือนธันวาคมปี 2020 ส่งยานสำรวจอีกลำไปไกลถึงดาวอังคารในเดือนพฤษภาคมปี 2021 ภารกิจเสินโจว-12 ในห้วงเวลาปัจจุบันจึงเป็นเสมือนส่วนต่อยอดเรื่องราวด้านอวกาศของจีน
ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดีองค์กรอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เคยประกาศจะพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติ โดยจีนรวมภูมิภาคอาเซียนในความตั้งใจนี้ด้วย อวกาศสำหรับจีนก็คือการทูต ดังนั้นความก้าวหน้าทางอวกาศของจีนก็คือการสร้างความเชื่อมั่นทางการทูต ซึ่งจะแตกต่างจากชาติอื่นๆ ที่ใช้การสำรวจอวกาศประกาศความเหนือชั้น และความสำเร็จของเสินโจว-12 กำลังทำให้ความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วนต่างๆ ต่อจีนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)