เมื่อเร็วๆ นี้ นายสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนกล่าวเน้นย้ำถึงสองครั้งในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการประชุมสุดยอดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคการเมืองทั่วโลกว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะสามัคคีและนำพาประชาชนจีนขับเคลื่อน “ความทันสมัยแบบจีน”ให้ลงลึก และสร้างคุณูปการใหม่แก่การแสวงหาหนทางสู่ความทันสมัยของมนุษยชาติ เกี่ยวกับประเด็น “ความทันสมัยแบบจีนสร้างโอกาสใหม่ให้กับโลก” ผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) ได้ขอสัมภาษณ์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สื่อข่าว : ท่านเคยไปประเทศจีนหรือยัง มีความรู้สึกและเข้าใจอย่างไรต่อความทันสมัยแบบจีน?
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น: เดินทางไปจีนค่อนข้างบ่อยค่ะ ดิฉันให้ความสำคัญกับการเดินทางไปลงพื้นที่ประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของจีนด้วยสายตาตัวเอง และเพื่อจะได้ไปสัมผัสกับความทันสมัยทางเทคโนโลยีของจีนที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ปี 2000 ก็เริ่มเดินทางไปจีนอย่างจริงจัง ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปจีนทุกปีและมีโอกาสเดินทางไปจีนได้ครบทุกมณฑลแล้วค่ะ การเดินทางไปจีนของดิฉัน จึงไม่ได้เน้นไปเพียงแค่เมืองใหญ่ตามชายฝั่งตะวันออก ไม่ใช่แค่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจาเท่านั้น แต่พยายามเดินทางไปมณฑลอื่นๆ ของจีนด้วย โดยเฉพาะทางตอนในของจีน เคยเดินทางไปอุรุมชีในซินเจียง ลาซาในทิเบต เปาโถในมองโกเลียใน หนิงเซี่ย ชิงไห่ กานซู่ ไปจนถึงเมืองที่อยู่ตอนในทางตะวันตกที่สุดของประเทศ คือ เมืองคาสือ
จากประสบการณ์ของดิฉัน คิดว่า การเปลี่ยนแปลงของจีนไม่ใช่แค่มีแค่ตึกรามบ้านช่องที่ทันสมัยเท่านั้น ไม่ได้มีแค่ถนนหนทางตัดใหม่หรือระบบรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น สิ่งที่ได้เห็น คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนที่ทันสมัยมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี จึงคิดว่า สิ่งเหล่านี้น่าประทับใจมากกว่าความทันสมัยเพียงแค่ทางวัตถุหรือกายภาพ
ดังนั้น ความทันสมัยของจีนวันนี้ จึงไม่ใช่แค่ตึกสูงระฟ้า แค่ทางด่วน แค่สนามบิน หรือแค่ท่าเรือที่ทันสมัย แต่เป็นวิถีชีวิตของคนจีนที่ทันสมัยมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างความสะดวกสบายให้ชีวิต เช่น การมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด cashless society ทั้งหมดนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและน่าทึ่งมาก โดยเฉพาะการใช้ชีวิตของคนจีนในยุคดิจิทัล การใช้ชีวิตบน platform economy ของคนรุ่นใหม่จีน
ผู้สื่อข่าว : ท่านคิดว่าการที่จีนเร่งขับเคลื่อนความทันสมัยแบบจีนให้ลงลึกนั้น จะนำโอกาสอะไรบ้างแก่ประเทศไทยและโลก
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น: มีหลายอย่างที่น่าเรียนรู้จากจีน และดิฉันมองว่า เป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ดีสำหรับไทยและประเทศต่างๆ การที่จีนสามารถพัฒนาประเทศให้ทันสมัย และจีนได้มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความทันสมัยทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน 5G จะมีคุณูปการในการต่อยอดไปยังเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ทางการแพทย์ Tele Medicine สามารถทำให้มีการผ่าตัดทางไกลได้ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยจึงมีหลายด้านที่สามารถร่วมมือและเรียนรู้จากจีนและเชื่อมโยงกับจีน นอกจากในด้านการแพทย์แล้ว ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีทางการเกษตรของจีน หรือ Agricultural Technology (AgriTech) ก็น่าที่จะเรียนรู้หรือร่วมมือกับจีน เพื่อสร้างความทันสมัยให้กับภาคเกษตรของไทย เช่น การนำโดรนอัจฉริยะมาช่วยในการทำเกษตร เป็นต้น
ดังนั้น ความทันสมัยของจีนในด้านเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีคุณูปการ หรือมี contribution ให้กับการพัฒนาของไทยและประเทศอื่นด้วย ถ้าเราสามารถร่วมมือกันและเรียนรู้ไปด้วยกัน
ผู้สื่อข่าว : รูปแบบการพัฒนาความทันสมัยแบบจีนให้ข้อคิดอะไรบ้างแก่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาความทันสมัย?
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น: ดิฉันเห็นว่ารูปแบบการพัฒนาของจีนสามารถเป็นต้นแบบ หรือเป็นโมเดลจีนในการพัฒนาความทันสมัยที่ไทยและประเทศอื่นควรเรียนรู้ว่า เป็นเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายหรือเกิดเองโดยอัตโนมัติ แต่เกิดจากการมีวิสัยทัศน์ มีการวางแผน มียุทธศาสตร์ระยะยาว และมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างจริงจังของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน ไปจนถึงนักเรียน/นักศึกษาและเยาวชน คนในชาติทั้งหลาย
ทั้งหมดนี้ ทำให้ความทันสมัยแบบจีนไม่ใช่แค่ตึกรามบ้านช่องที่ทันสมัย ไม่ใช่แค่มีระบบรถไฟความเร็วสูงหรือมีสนามบินที่ทันสมัยเท่านั้น แต่เป็นความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยี มีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อมาช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์และทางการเกษตรที่กล่าวมาแล้ว รวมไปถึงเทคโนโลยีจากพลังงานสะอาด เช่น การใช้รถยนต์ EV ที่จะทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ในเรื่องของคน มีสตาร์ตอัพจีนและมีการทุ่มส่งเสริม Talent ผู้มีความสามารถพิเศษเพื่อพัฒนานวัตกรรม ไปจนถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สะท้อนความทันสมัยของจีนในยุคดิจิทัลที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คน
ทุกวันนี้ มีสินค้าจีนที่ทันสมัยล้ำหน้าทางนวัตกรรมและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง เช่น สินค้าแบรนด์เสี่ยวหมี่ ดิฉันเองใช้ผลิตภัณฑ์เสี่ยวหมี่หลายชิ้น มีทั้งเครื่องฟอกอากาศ ทั้งนาฬิกาอัจฉริยะ เป็นต้น เพราะเป็นสินค้าคุณภาพราคาไม่แพง และออกแบบได้เรียบง่ายทันสมัย ใช้ประโยชน์ได้จริงและคงทน นี่คือตัวอย่างผลิตภัณฑ์แห่งความทันสมัยที่พัฒนาขึ้นมาจากสตาร์ตอัพจีน ดิฉันจึงคิดว่า โมเดลจีนที่มุ่งสู่ความทันสมัยจึงน่าสนใจและเรียนรู้ โดยเฉพาะในการนำมาปรับประยุกต์ใช้ในยุคดิจิทัล
ผู้สื่อข่าว : ปธน.สี จิ้นผิงกล่าวว่า หนทางสู่ความทันสมัยไม่มีรูปแบบตายตัว สิ่งที่ดีที่สุดคือแบบที่เหมาะกับตัวเอง ความพยายามของทุกประเทศในการแสวงหาหนทางสู่ความทันสมัยที่เหมาะสมกับสภาพของประเทศตนอย่างอิสระนั้นควรได้รับการเคารพ ท่านมีมุมมองในประเด็นนี้อย่างไร?
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น: เห็นด้วยกับประเด็นที่ว่า หนทางสู่ความทันสมัยไม่มีรูปแบบตายตัว สิ่งที่ดีที่สุดคือแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง
เนื่องจากความทันสมัยขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ เช่น อาจจะมีเรื่องของศาสนา มีเรื่องของวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้องด้วย ดังเช่นประเทศไทยเราเป็นเมืองพุทธและมีศิลปะวัฒนธรรมของไทยมายาวนาน ความทันสมัยของไทยในการฟื้นฟูศิลปะเหล่านี้ ก็อาจจะต่างจากความทันสมัยของประเทศที่เป็นมุสลิม เป็นต้น ความทันสมัยจึงไม่มีรูปแบบตายตัว และต้องเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ดี เราสามารถร่วมมือกัน จับมือกัน ส่งเสริมกันในความทันสมัยบางอย่างที่มีลักษณะสากล ยกตัวอย่างเช่น ความทันสมัยในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล ซึ่งถือว่า บางด้านเป็นลักษณะสากล แต่บางด้านก็เป็นเรื่องเฉพาะที่ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ขึ้นอยู่กับศาสนา ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละประเทศ ซึ่งเราเรียกว่า ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศนั่นเอง
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดยภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน-CMG
ลิขสิทธิ์เป็นของ China Face