แนวคิดปรัชญาของขงจื่อเกี่ยวกับฟ้าและมนุษย์ (2)

2021-09-16 11:38:12 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

ขงจื่อ ชื่อ ชิว สมญานาม จ้งนี เป็นชาวชีว์ฟู่ มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน อยู่ในยุคชุนชิว(770 – 476 ปีก่อนค.ศ.)  ขงจื่อเป็นนักปรัชญา นักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาขงจื่อ คำสอนและเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเขาถูกสาวกและลูกศิษย์นำไปเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “หลุนอี่ว์” ขงจื่อเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของชาวจีนสมัยโบราณ

“หลุนอี่ว์” ในฐานะเป็นนิพนธ์ชั้นเลิศทางวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลต่อนักปรัชญา นักเขียน และนักการเมืองจีนกว่า 2,000 ปีกล่าวได้ว่าหากไม่ได้ศึกษา “หลุนอี่ว์” ก็ไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน หรือ จิตใจด้านลึกของชาวจีน  

แนวคิดปรัชญาของขงจื่อเกี่ยวกับฟ้าและมนุษย์  (2)_fororder_20210916孔子的天人之学(2)2

ก่อนสมัยขงจื่อ   มีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับการศึกษา ขงจื่อเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ริเริ่มให้มีการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป  จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ขงจื่อเป็นครูสอนหนังสือเป็นเวลาหลายปี มีลูกศิษย์กว่า 3,000 คน  ในจำนวนนี้ มีลูกศิษย์ 72 คนที่มีความชำนาญในศิลปะ 6 อย่าง ได้แก่ พิธีกรรม ดนตรี  ยิงธนู  ขับรถ อักษรวิจิตร และคณิตศาสตร์    ขงจื่อในฐานะนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ได้รับการยกย่องนับถือจากคนรุ่นหลังว่า เป็น “มหาปราชญ์”

แนวคิดปรัชญาของขงจื่อเกี่ยวกับฟ้าและมนุษย์  (2)_fororder_20210916孔子的天人之学(2)1

ขงจื่อเห็นว่า เป้าหมายพื้นฐานของการศึกษาคือ   ฝึกฝนบุคคลให้มีคุณธรรม  มีบุคลิกภาพที่ดี และมีจิตใจอันสูงส่ง  บุคคลเช่นนี้จึงสามารถแบกรับภารกิจสำคัญทางสังคม  และสร้างคุณูปการสำคัญให้แก่สังคม ขงจื่อยึดหลักการศึกษาว่า  ลูกศิษย์ต้องมีอุดมคติสูงส่ง   มีคุณธรรมยิ่งใหญ่ และรักคนทั่วไป   รวมทั้งต้องมีการเรียนรู้พิธีกรรม ดนตรี  ยิงธนู  ขับรถ อักษร วิจิตร และคณิตศาสตร์    ในหลักการดังกล่าว คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

แนวคิดปรัชญาของขงจื่อเกี่ยวกับฟ้าและมนุษย์  (2)_fororder_20210916孔子的天人之学(2)3

ลูกศิษย์ของขงจื่อได้ประกอบอาชีพด้านต่างๆ เช่น การเมือง การค้า การศึกษา การทูต การประกอบพิธีด้านศาสนา  และการเรียบเรียงหนังสือโบราณ  ไม่ว่าพวกเขาประกอบอาชีพอะไร  สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือ มุ่งมั่นในการเรียนรู้มนุษยศาสตร์ และยกระดับคุณธรรมของตนให้สูงขึ้น

ขงจื่อเน้นความสำคัญของการศึกษาสุนทรียศาสตร์  เขากล่าวว่า การศึกษาเรียนรู้หนังสือ “ซือจิง” หรือหนังสือเกี่ยวกับเพลงจะช่วยกระตุ้นจิตวิญญาณอันสูงส่ง และทำให้คนเราชื่นชอบสิ่งที่ดีงาม  การศึกษาเรียนรู้หนังสือ “หลี่” หรือหนังสือเกี่ยวกับพิธีกรรมจะช่วยให้คนเรามีพฤติกรรมถูกต้องตามกฎระเบียบ  การศึกษาเรียนรู้ดนตรีจะช่วยให้คนเรามีจิตวิญญาณที่สูงส่งยิ่งขึ้น และมีความสุขในชีวิตมากขึ้น เขายังกล่าวด้วยว่า   เพียงรู้ว่าอะไรเป็นคุณธรรมอันสูงส่งไม่เพียงพอ เราต้องพยายามเข้าถึงคุณธรรมอันสูงส่งด้วย   เพียงตั้งเป้าหมายจะเข้าถึงคุณธรรมอันสูงส่งไม่เพียงพอ เราต้องรู้สึกถึงความสุขจากการเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมอันสูงส่งด้วย 

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขงจื่อถามลูกศิษย์หลายคนถึงปณิธานของพวกเขา จื่อลู่ และหรันโหย่ว ตอบว่า อยากมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ   กงซุ่นชื่อ ว่า  อยากเป็นเจ้าหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ส่วนเจิงเตี่ยน บอกว่า ปณิธานของเขาแตกต่างจากคนอื่น ขงจื่อจึงบอกเขาว่า ไม่เป็นไร เราเพียงมาพูดคุยในปณิธานของแต่ละคนเท่านั้น เจิงเตี่ยนจึงบอกต่อไปว่า ความฝันของเขาคือ  ปลายฤดูใบไม้ผลิ ได้ใส่ชุดสบายๆ ไปว่ายน้ำกับผู้ใหญ่ 5 - 6 คน และเด็ก 6 - 7 คนในแม่น้ำอี๋ รับลมที่โชยมาในสถานที่ขอฝน จากนั้น  จะเดินทางกลับบ้าน โดยร้องเพลงตลอดเส้นทาง 

ขงจื่ออุทานว่า   ขอแบ่งปันปณิธานกับเจิงเตี่ยน

ปณิธานที่แตกต่างกันของลูกศิษย์ 4 คนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่แตกต่างกันของพวกเขา   การที่ขงจื่อเห็นด้วยกับปณิธานของเจิงเตี่ยนนั้นแสดงให้เห็นว่า แม้ขงจื่อเน้นตลอดว่า คนเราจะต้องสร้างคุณูปการแก่สังคม แต่ในขณะเดียวกัน เขาเห็นว่า สภาวะที่ดีงามที่สุดของชีวิตควรจะมีความกลมกลืนระหว่างคนกับคน และความกลมกลืนระหว่างคนกับธรรมชาติ 

ภายใต้อิทธิพลของขงจื่อ  นักปรัชญาจีนรุ่นต่อๆไปล้วนเชื่อว่า   ผู้รับการศึกษาและนักวิชาการไม่เพียงแต่ต้องเพิ่มเติมความรู้ของตนเอง หากยังต้องฝึกฝนตนเองให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีจิตวิญญาณที่สูงส่ง   ต้องแสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิตให้มากยิ่งขึ้น  นักวิชาการสมัยปัจจุบันจำนวนไม่น้อยเห็นว่า   แนวความคิดของขงจื่อเกี่ยวกับทัศนคติในชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดในปรัชญาจีน และสิ่งเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นจากขงจื่อ

(yim/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)

许平平