“ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติจีน” ในกรุงปักกิ่งที่ได้ฉายาว่า “ลูกบาศก์น้ำ” เคยเป็นสนามกีฬาอันเป็นสัญลักษณ์แห่งหนึ่งในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปักกิ่งปี 2008 เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำประเภทต่างๆ เช่น ว่ายน้ำ กระโดดน้ำ และระบำใต้น้ำ แต่ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก-พาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่ปักกิ่ง สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่แข่งขันกีฬาเคอร์ลิ่งและวีลแชร์เคอร์ลิ่ง ดังนั้น จากอาคาร“ลูกบาศก์น้ำ” ได้ถูกดัดแปลงเป็น “ลูกบาศก์น้ำแข็ง” เป็นที่เรียบร้อย
อาคาร“ลูกบาศก์น้ำแข็ง” ในกรุงปักกิ่งจะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเคอร์ลิ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกฤดูหนาว และเป็นสนามกีฬาโอลิมปิกแต่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในโลก ที่สามารถจัดได้ทั้งการแข่งขันกีฬาทางน้ำและน้ำแข็ง อีกทั้งยังเป็นสนามกีฬาโอลิมปิกแห่งแรกในโลกที่ได้สร้างลานแข่งขันเคอร์ลิ่งบนสระว่ายน้ำด้วย
การทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็งนั้นจะต้องแก้ไขปัญหาใหญ่ 2 ประการ และสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดในกระบวนการดัดแปลงอยู่ที่การสร้างพื้นที่ใช้สอยสำหรับจัดการแข่งขันนั่นเอง เพราะว่าองค์ประกอบของสนามกีฬาทางน้ำกับน้ำแข็งมีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น สนามกีฬาทางน้ำต้องมีอุณหภูมิและความชื้นค่อนข้างสูง แต่สถานที่แข่งขันเคอร์ลิ่งต้องการอุณหภูมิและความชื้นค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ มาตรฐานการส่องสว่างและองค์ประกอบเกี่ยวกับเรื่องเสียงหรืออะคูสติกทางสถาปัตยกรรม สำหรับการแข่งขันทั้งสองประเภทดังกล่าวก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติจีนเริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลักในการดัดแปลง 5 ประการ ได้แก่ การดัดแปลงโครงสร้างพื้นที่จัดการแข่งขัน การลดความชื้นด้วยเครื่องปรับอากาศ การส่องสว่างในพื้นที่จัดการแข่งขัน การประหยัดพลังงานในทุกด้าน และองค์ประกอบอะคูสติกทางสถาปัตยกรรม จากนั้น มีการก่อสร้างโครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนได้ในส่วนกลางของพื้นที่จัดการแข่งขันกีฬา และติดตั้งระบบผลิตน้ำแข็งแบบถอดออกได้ จากการดัดแปลงดังกล่าว หลังระบายน้ำในสระว่ายน้ำออกไปหมดแล้ว ก็สามารถติดตั้งระบบรองรับโครงสร้างเหล็ก แผ่นคอนกรีต และปูท่อผลิตน้ำแข็ง เพื่อผลิตน้ำแข็ง และสร้างลานสำหรับการแข่งขันเคอร์ลิ่งแบบมาตรฐาน 4 แห่งขึ้นมา
กีฬาเคอร์ลิ่งเป็นการแข่งขันกีฬาทางน้ำแข็งที่ต้องการคุณภาพพื้นผิวน้ำแข็งสูงที่สุด จึงเป็นความท้าทายต่อความแม่นยำในการสร้างลานน้ำแข็ง ด้วยเหตุนี้ ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติจีนจึงได้นำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling)มาใช้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับการออกแบบอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมกระบวนการต่างๆให้สอดคล้องและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทำให้ค่าความคลาดเคลื่อนในการติดตั้งลานน้ำแข็งถูกควบคุมให้อยู่ภายใน 3 มิลลิเมตร อีกทั้งยังได้แก้ไขปัญหาคอขวดทางเทคโนโลยีหลายประการ เช่น ไม่ให้เกิดน้ำค้างแข็งและรอยร้าว พร้อมทั้งลดการระเหิดบนพื้นผิวน้ำแข็ง
หลังจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาว ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติจีนจะกลายเป็นสนามกีฬาทางน้ำในช่วงฤดูร้อน และสนามกีฬาทางน้ำแข็งในฤดูหนาว นอกจากเป็นสถานที่จัดการแข่งกันแล้ว ศูนย์กีฬาแห่งนี้ยังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย เรียนรู้วัฒนธรรมสำหรับสาธารณชน และสถานที่จัดงานนิทรรศการด้านต่างๆ ด้วย
หลังจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง ลานน้ำแข็งที่สร้างขึ้นใหม่ในชั้นใต้ดินของจัตุรัสทางทิศใต้จะใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายสำหรับสาธารณชน และเป็นศูนย์ฝึกอบรมการเล่นกีฬาเคอร์ลิ่งด้วย เพื่อส่งเสริมกีฬาน้ำแข็งและช่วยขับเคลื่อนกระบวนการในการบรรลุเป้าหมาย “ให้ 300 ล้านคนมีส่วนร่วมในรายการกีฬาน้ำแข็งและหิมะ”
(yim/cai)