บทวิเคราะห์ : ผู้นำจีน-ไทยร่วมวาดพิมพ์เขียวจีน-อาเซียน

2021-11-30 10:27:13 | CRI
Share with:

บทวิเคราะห์ : ผู้นำจีน-ไทยร่วมวาดพิมพ์เขียวจีน-อาเซียน

การประชุมรำลึก 30 ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาระหว่างจีน-อาเซียนได้จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.2021 และจีน-อาเซียนได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า  จะสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านในที่ประชุมครั้งนี้  พร้อมกันนี้ ผู้นำทั้งจีนและไทยได้เสนอแนวคิดหลายประการในที่ประชุมดังกล่าวเพื่อวาดพิมพ์เขียวให้จีน-อาเซียน

จีนกับบรรดาประเทศอาเซียนจัดเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและเชื่อมโยงกันในทุกมิติ  ตั้งแต่จีน-อาเซียนสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาเมื่อค.ศ.1991 เป็นต้นมา  ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนตลอด 30 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด  ปัจจุบัน  จีน-อาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกันและกัน  และเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่มีความกระตือรือร้นและประสบความสำเร็จมากที่สุดในย่านเอเชีย-แปซิฟิก

ในที่ประชุมครั้งนี้  นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้แจกแจงแนวคิดสำคัญ 4 ประการเพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของจีนที่จะขยายความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน  ได้แก่  1)จีนจะยึดมั่นหลักการที่จะให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอันดับแรกในการทูตประเทศรอบข้าง 2)มุ่งสนับสนุนความสามัคคีและการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียน  3)มุ่งสนับสนุนอาเซียนเป็นศูนย์กลางของโครงสร้างภูมิภาค  และ4)มุ่งสนับสนุนให้อาเซียนแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นในกิจการส่วนภูมิภาคและกิจการระหว่างประเทศอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่

เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนในอนาคต  ปธน.สี มีข้อเสนอ 5 ประการ  ได้แก่  ต้องร่วมกันสร้างบ้านที่สันติ,  ร่วมกันสร้างบ้านที่สงบสุข, ร่วมกันสร้างบ้านที่เจริญรุ่งเรือง, ร่วมกันสร้างบ้านที่สวยงาม  และร่วมกันสร้างบ้านที่เป็นมิตร 

ขณะเดียวกัน  ปธน.สี ยังเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมจำนวนหนึ่ง  ซึ่งรวมถึงจีนจะริเริ่มโครงการความร่วมมือ "โล่แห่งสุขภาพจีน-อาเซียน"  โดยจะช่วยอาเซียนเสริมสร้างระบบสาธารณสุขระดับพื้นฐานและการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข, จีนยินดีให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่อาเซียนในมูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อใช้ในการต่อสู้กับโรคระบาดและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน, จีนจะสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายความรู้เพื่อการพัฒนาจีน-อาเซียน ยินดีที่จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านการบรรเทาความยากจน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลและจุนเจือ,  จีนยินดีที่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์คุณภาพจากประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการพยายามนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนมูลค่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้า  จีนจะเริ่มแผนการยกระดับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะอำนวยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและนำไปใช้ได้จริงแก่อาเซียน 1,000 รายการ และจะสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของอาเซียนจำนวน 300 คน ให้เดินทางมาประเทศจีนเพื่อดำเนินการแลกเปลี่ยนภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า

บทวิเคราะห์ : ผู้นำจีน-ไทยร่วมวาดพิมพ์เขียวจีน-อาเซียน

ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยได้ระบุในที่ประชุมดังกล่าวว่า  “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” จะขยายความร่วมมือ เพื่อก้าวสู่ทศวรรษใหม่ร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน  นายกฯประยุทธ์ได้นำเสนอ “สปิริตแห่งความร่วมมือ” ที่ควรเริ่มต้นจากการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค บนพื้นฐานของหลักการ 3M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Mutual Trust)  ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) และผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกัน (Mutual Benefit) เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี เกื้อกูลไปสู่การขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้  นายกฯประยุทธ์ยังได้ประกาศประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ 1)ไทยและอาเซียนจะแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับจีนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกด้าน  2)อาเซียนและจีนจะต้องร่วมกันส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล  และ 3) การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทั้งอาเซียนและจีนต้องร่วมมือกันในฐานะสมาชิกทวีปเอเชียและประชาคมโลก  นอกจากนี้  นายกฯประยุทธ์ ยังเน้นย้ำความสำคัญของดุลยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง  และความสัมพันธ์อาเซียน-จีนยังเป็นเสาหลักความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาค

นายกฯประยุทธ์เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า วิกฤตที่ผ่านมาแม้จะหนักหนาสาหัสเพียงใด ก็มิอาจทำให้สายใยแห่งสัมพันธ์ฉันพี่น้องนี้คลายลง กลับยิ่งทำให้เราต่างเห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจกัน และร่วมกันจับมือก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปด้วยกัน ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการร่วมพัฒนายกระดับให้บ้านเมืองของแต่ละประเทศและทั้งภูมิภาคนี้ให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคงและแข็งแรงต่อไป

ในที่ประชุมครั้งนี้  นายกฯ ประยุทธ์ได้ชื่นชมความสำเร็จของจีนด้านการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน และการเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกที่มีความรับผิดชอบ อันเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นานาประเทศ อีกทั้งชื่นชมวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มุ่งสร้าง “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” แสดงถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะรับมือกับประเด็นท้าทายร่วมกัน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาเซียนในการเสริมสร้างประชาคมที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

นายกฯประยุทธ์ยังระบุด้วยว่า  ไทยสนับสนุนบทบาทของจีนทั้งในอาเซียนและอนุภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ซึ่งไทยจะเข้ารับตำแหน่งประธานร่วมกับจีนในค.ศ.2022 และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญ 

ซึ่งในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้กล่าวตอบนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า   ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ประสานงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอาเซียน และจีนขอสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปกปีหน้า

ที่เห็นได้ชัดคือ  ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่ผันผวนปั่นป่วนและสลับซับซ้อนยิ่ง  จีน-อาเซียนจะเผชิญการท้าทายมากยิ่งขึ้นในอนาคต  แต่หลังจากจีน-อาเซียนสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน และด้วยการผลักดันของผู้นำทั้งจีนและไทย  ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างจีน-อาเซียนย่อมจะแนบแน่นและลงลึกยิ่งขึ้น

(Yim/zhou)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (14-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (13-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (13-11-2567)

周旭