วันที่ 3 ธันวาคม นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกับนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศสปป.ลาวได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาวผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
ภายหลังการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่มีความยาวรวมกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มจากเมืองคุนหมิงของจีนในทางทิศเหนือจนถึงกรุงเวียงจันทน์ของลาวในทางทิศใต้ จะขับเคลื่อนการไปมาหาสู่กันของทั้งผู้คนและวัตถุสิ่งของ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศตลอดจนประเทศอื่นในภูมิภาค อัดฉีดความเชื่อมั่นและแรงผลักดันอย่างทรงพลังแก่การพัฒนาของภูมิภาค
สี จิ้นผิงให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งต่อความคืบหน้าของงานสร้างรถไฟจีน-ลาวมาโดยตลอด และได้ให้คำชี้นำที่สำคัญ
“ให้ลาวเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านกระทั่งทั่วโลก”
ก่อนรถไฟจีน-ลาวจะสร้างเสร็จ ลาวมีทางรถไฟยาวเพียง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อกับประเทศไทย ปัญหาคอขวดทางด้านการคมนาคมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศลาว
ระหว่างการเยือนลาวของสี จิ้นผิงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2017 ภายใต้การเป็นสักขีพยานของผู้นำทั้งสองประเทศ ผู้แทนจีนและลาวได้ลงนามเอกสารความร่วมมือในหลายด้าน เช่น การสร้างสรรค์ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว และการสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น รถไฟจีน-ลาวได้กลายเป็นโครงการเชิงสัญลักษณ์แห่งการร่วมกันสร้างสรรค์ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ด้วยคุณภาพสูงระหว่างสองฝ่าย ซึ่งได้ผลักดันความร่วมมือในด้านต่างๆอย่างมาก
สี จิ้นผิงเคยกล่าวในบทความที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนลาวว่า “ในฐานะส่วนประกอบที่สำคัญของเครือข่ายเส้นทางรถไฟแพนเอเชีย รถไฟจีน-ลาวมีความหมายทางยุทธศาสตร์และเชิงปฏิบัติที่สำคัญสำหรับลาว ทั้งสองฝ่ายต้องเสริมสร้างการบูรณาการและการประสานงาน ใช้ความพยายามเพื่อสร้างให้แล้วเสร็จและเปิดเดินรถโดยเร็ว ให้ลาวเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านกระทั่งทั่วโลก"
นับตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างตลอดสายเมื่อปี 2016 เป็นต้นมา โครงการรถไฟจีน-ลาวมีชาวบ้านท้องถิ่นมากกว่า 5,000 คนเข้าร่วมงานก่อสร้าง มีเยาวชนลาวจำนวนมากได้ก้าวออกจากภูเขาเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและความรู้ที่ก้าวหน้า
พร้อมไปกับการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาวตลอดสาย การใช้เวลาเดินทางจากกรุงเวียงจันทน์ไปยังชายแดนจีน-ลาวจะสั้นลงจาก 2 วัน เหลือ 3 ชั่วโมง และสามารถไปถึงคุนหมิงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับลาวได้บรรลุการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ความฝันจีนกับความฝันลาวได้เชื่อมโยงใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันรถไฟจีน-ลาวจะเปลี่ยนสถานะปัจจุบันของลาวที่เป็น "ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล" และเมื่อเชื่อมต่อกับเมียนมาร์ ไทย และประเทศอื่นๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน จะทำให้เครือข่ายเส้นทางรถไฟแพนเอเชียมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น การติดต่อระหว่างจีนกับประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนจะใกล้ชิดยิ่งขึ้น และการเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้จะเกิดโอกาสใหม่ทางประวัติศาสตร์
“ผลักดันการสร้างสรรค์ประชาคมจีน-ลาวที่มีอนาคตร่วมกันให้ลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง”
วันที่ 30 เมษายน ปี 2019 ที่กรุงปักกิ่ง ปธน.สี จิ้นผิงกับนายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศสปป.ลาวในขณะนั้น ได้ลงนาม"แผนปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคปฏิวัติประชาชนลาวเกี่ยวกับการสร้างประชาคมจีน-ลาวที่มีอนาคตร่วมกัน"
เอกสารฉบับนี้มีการกล่าวถึงเป็นการเฉพาะว่า จะพึ่งพารถไฟจีน-ลาวในการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศโดยเน้นที่การเชื่อมต่อกันและความร่วมมือด้านกำลังการผลิตและการลงทุน
วันที่ 3 เมษายน ปี 2020 สี จิ้นผิงกล่าวขณะพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายบุนยัง วอละจิดว่า “จีนยินดีที่จะรักษาการไปมาหาสู่กันระดับสูงกับลาวต่อไป ถือการปฏิบัติตาม‘แผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการสร้างประชาคมจีน-ลาวที่มีอนาคตร่วมกัน’ เป็นแนวทางในการลงลึกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารพรรคและประเทศ เดินหน้าการสร้างสรรค์โครงการสำคัญๆ เช่น ทางรถไฟและระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว ส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรม เสริมสร้างการประสานงานในกิจการระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ตลอดจนผลักดันการสร้างประชาคมจีน-ลาวที่มีอนาคตร่วมกันให้ลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความสุขมาสู่ประชาชนทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ประชาชนลาวมีความเห็นโดยทั่วไปว่า ทางรถไฟลาว-จีนจะลดต้นทุนการขนส่งอย่างมาก และจะขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนภายในประเทศอย่างทรงพลัง ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การศึกษา และสาธารณสุข
นายเจียง ไจ้ตง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศลาวกล่าวว่า “เราจะร่วมกับฝ่ายลาวในการเริ่มก่อสร้างทางเชื่อมต่อจีน-ลาว-ไทยโดยเร็วที่สุด จากนั้นลงใต้เชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟมาเลเซีย-สิงคโปร์ และขึ้นเหนือเชื่อมต่อกับขบวนรถไฟจีน-ยุโรป เปลี่ยนข้อเสียเปรียบที่เป็น 'ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล' ของลาว ให้เป็นข้อได้เปรียบที่เป็น 'ศูนย์กลาง' ต้องเร่งบุกเบิกพัฒนาอย่างครอบคลุมตามแนวเส้นทางรถไฟ เพื่ออัดฉีดแรงกระตุ้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของลาวและความร่วมมือที่มุ่งผลลัพธ์ระหว่างจีนกับลาว เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณแห่งประชาคมจีน-ลาวที่มีอนาคตร่วมกันด้วยปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม"
YIM/LU