บทวิเคราะห์: สหรัฐฯจัด"การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" เป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก

2021-12-06 12:48:08 | CMG
Share with:

สหรัฐฯกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดสิ่งที่เรียกว่า "การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม พฤติกรรมของสหรัฐฯที่เปี่ยมไปด้วยแนวคิดสงครามเย็นและอคติทางอุดมการณ์นี้ เป็นภัยอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากประชาคมระหว่างประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ เอกอัครราชทูตจีนและรัสเซียประจำสหรัฐฯ ได้ร่วมกันเขียนบทความในนิตยสาร "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ของสหรัฐฯ เพื่อแสดงการคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อสิ่งที่เรียกว่า "การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" ที่สหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น บทความชี้ว่า "สงครามและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในโลกได้พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า การเผยแพร่ 'ประชาธิปไตย' ในต่างประเทศและยัดเยียดระบบและค่านิยมของตนเองให้แก่ประเทศอื่นนั้น บ่อนทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคอย่างร้ายแรง"

ตามรายงานของสถาบันวิจัยสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศจีน ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงถึงปี 2001 ได้เกิดเหตุปะทะด้วยกำลังรุนแรง 248 ครั้งใน 153 ภูมิภาคของโลก ในจำนวนนี้ก่อขึ้นโดยสหรัฐฯมีมากถึง 201 ครั้ง คิดเป็นประมาณ 81% สิ่งที่เรียกว่า "การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย" ซึ่งขับเคลื่อนโดยสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนและการสูญเสียทรัพย์สินอย่างร้ายแรง และยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ประเทศที่เกี่ยวข้องตกอยู่ในความปั่นป่วนระยะยาว ยกตัวอย่างสงครามอัฟกานิสถานที่กินเวลาเกือบ 20 ปี จากการประเมินของนักวิชาการของมหาวิทยาลัยคาบูล สงครามอัฟกานิสถานเฉลี่ยแล้วทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้บาดเจ็บล้มตายประมาณ 250 รายทุกวัน

บทวิเคราะห์: สหรัฐฯจัด"การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" เป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก

เมื่อ 150 กว่าปีที่แล้ว อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐฯในขณะนั้น ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียงของเขาในเมืองเกตตีสเบิร์กโดยเสนอว่า "ประชาชนครอบครอง ประชาชนปกครอง ประชาชนแบ่งปัน" ต่อมาภายหลังสามคำนี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์คลาสสิกของประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯมาเป็นเวลายาวนาน แต่ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งแล้วว่า ระบบการเมืองและหลักธรรมาภิบาลของสหรัฐฯไม่ใช่ "ประชาธิปไตย" แบบที่เรียกว่า "ประชาชนครอบครอง ประชาชนปกครอง ประชาชนแบ่งปัน" โดยสิ้นเชิง แต่เป็นนายทุนเป็นเจ้าของประเทศแบบ "นายทุนครอบครอง นายทุนปกครอง นายทุนแบ่งปัน"  เกี่ยวกับความจริงข้อนี้ เคยมีนักวิชาการชาวสหรัฐฯเปิดเผยอย่างเสียดแทงใจว่า "ประชาธิปไตยแบบอเมริกาเป็นเพียงภาพลวงตา ประชาชนไม่ได้ปกครองประเทศ โดยทั่วไปนักการเมืองทำตามความปรารถนาของผู้ครองผลประโยชน์และคนที่ร่ำรวยที่สุดเท่านั้น"

ผลการสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่โดยบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งสหรัฐฯ(ABC)เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก และ 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐฯเชื่อว่า สหรัฐฯไม่ใช่แบบอย่างที่ดีด้านประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีโพลที่เกี่ยวข้องอื่นแสดงให้เห็นว่า 44% ของประชากรทั่วโลกมองสหรัฐฯเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อประชาธิปไตยทั่วโลก

เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าภาพจัด "การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" ธาตุแท้ของสิ่งที่เรียกว่า "การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" นั้น คือวิธีการที่สหรัฐฯจัดตั้งแก๊งเพื่อรักษาสถานะผู้ครองความเป็นเจ้าของโลก ส่วนกรณีที่สหรัฐฯเชิญทางการไต้หวันให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวนั้น มีจุดประสงค์เพื่อกดดันและยับยั้งจีนด้วยเจตนาร้าย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งการพัฒนาของจีน นักการเมืองสหรัฐฯบางคนได้ชูธง"ประชาธิปไตย"อีกครั้ง จากการเสนอ "ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก" สู่การก่อตั้ง "กลไกสี่ฝ่าย" ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย และจากการยุยงให้บางประเทศส่งเรือรบไปยังทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวันเพื่อดำเนินสิ่งที่เรียกว่า"การเดินเรือเสรี" จนมาถึงเรื่องที่สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลียสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนความมั่นคงไตรภาคี(AUKUS) สหรัฐฯล้วนชูธง"ประชาธิปไตย"ในการจัดตั้งพรรคพวกและปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้ากันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กลายเป็นผู้บ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาครายใหญ่ที่สุด

บทวิเคราะห์: สหรัฐฯจัด"การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" เป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก

หลักการจีนเดียวเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในทั่วโลก นอกจากการเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนแล้ว ไต้หวันไม่มีสถานะอื่นใดที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ การที่สหรัฐฯพยายามหลบเลี่ยงข้อจำกัดของกฎหมายระหว่างประเทศด้วยข้ออ้าง"ประชาธิปไตย" เพื่อให้ท้าย"พวกแบ่งแยกดินแดนในไต้หวัน"นั้น มีแต่จะทำให้ชาวโลกมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า สิ่งที่เรียกว่า"ประชาธิปไตย"นั้นเป็นเพียงเครื่องมือของสหรัฐฯ ในการสร้างความวุ่นวาย กดดันผู้ไม่เห็นด้วยกับตนเอง และเล่นเกมการเมืองแบบกลุ่มอย่างขนานใหญ่

ประชาธิปไตยเป็นค่านิยมร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่เอกสิทธิ์ของประเทศตะวันตก วิธีการบรรลุประชาธิปไตยมีหลากหลาย และทุกประเทศย่อมมีสิทธิ์เลือกหนทางการพัฒนาประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับตนเอง ประเทศใดจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ประชาชนภายในประเทศย่อมเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมากที่สุด  สหรัฐฯไม่มีคุณสมบัติทำตัวเป็น "ผู้พิพากษาประชาธิปไตย" ของโลก

ประชาธิปไตยยิ่งไม่ควรกลายเป็นข้ออ้างในการแสวงหาการครองความเป็นเจ้า สิ่งที่โลกทุกวันนี้ต้องการอย่างเร่งด่วนไม่ใช่การเรียกประชุมสิ่งที่เรียกว่า "การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย" แต่เป็นการปฏิบัติตามบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถือกฎบัตรสหประชาชาติเป็นพื้นฐาน เสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือทั่วโลก ร่วมกันรับมือกับความท้าทายของทั่วโลก เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนร่วมกันเดินหน้าภารกิจความก้าวหน้าแห่งมนุษยชาติ

YIM/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (31-10-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (31-10-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (31-10-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (30-10-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (30-10-2567)

陆永江