ความผูกพันของ ‘สี จิ้นผิง’ ต่อวัฒนธรรม: สิ่งที่ท่านสนใจล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่เมืองตุนหวงกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน (2)

2022-06-12 12:14:09 | CMG
Share with:

    “ได้ยินว่าฝนตกที่แถวพวกคุณเหรอ?

“ใช่ค่ะ ท่านเลขาธิการใหญ่ เรากำลังทำงานตรวจวัดที่เกี่ยวข้อง”

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2019 พิธีมอบรางวัลเหรียญแห่งชาติและตำแหน่งเกียรติยศแห่งชาติจัดขึ้นที่ห้องโถงสีทอง มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน ได้จับมืออย่างอบอุ่นกับนางฝาน จิ่นซือ ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ สถาบันวิจัยตุนหวง ผู้ได้รับรางวัลตำแหน่งเกียรติยศแห่งชาติในฐานะ "ผู้สร้างคุณูปการดีเด่นด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุ" พร้อมไปกับการถามไถ่ถึงสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่เมืองตุนหวงด้วยความห่วงใย

เหตุใดฝนในตุนหวงจึงทำให้สี จิ้นผิงจำได้ขึ้นใจขนาดนี้?

กว่าหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น สี จิ้นผิงได้ลงพื้นที่ตรวจงานในมณฑลกานซู่ จุดแรกคือถ้ำโม่เกาในเมืองตุนหวง ณ สถาบันวิจัยตุนหวง สี จิ้นผิงเป็นประธานการประชุมสัมมนา เขารับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้วยความตั้งใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณวัตถุ การสืบทอดวัฒนธรรม ตลอดจนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทางอารยธรรม ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ฝาน จิ่นซือรายงานต่อสี จิ้นผิงถึงปัจจัยทางธรรมชาติหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุในเมืองตุนหวง ซึ่งน้ำก็เป็นปัจจัยหนึ่งในนั้น

"ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าจะรองรับได้แล้วใช่ไหม สถานการณ์เป็นอย่างไร? "

ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่ท่านพูดถึงนั้นมีอะไรบ้าง?

"ปีหลัง ๆ นี้ฝนตกชุกขึ้นในตุนหวงใช่ไหม?"

……

ในที่ประชุมสัมมนา สี จิ้นผิงถามไถ่อย่างละเอียดถึงจำนวนนักท่องเที่ยวและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

ตุนหวงเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางสายไหม อารยธรรมที่หลากหลายได้มาบรรจบกันที่นี่ หล่อเลี้ยงความโชติช่วงชัชวาลของถ้ำโม่เกา เมื่อมองย้อนกลับไปยังยุคที่เจริญที่สุดของเมืองตุนหวง มันช่างรุ่งโรจน์งดงามราวกับดวงดาว แต่ทว่าไข่มุกแห่งวัฒนธรรมอันวิจิตรตระการตานี้มักประสบปัญหาด้านการอนุรักษ์ต่าง ๆ เช่น การเสื่อมสภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสืบสานและศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมตุนหวง

ในระหว่างการตรวจงานครั้งนี้ ปธน.สี จิ้นผิงได้กำชับเรื่องการอนุรักษ์โบราณวัตถุ การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ และการสืบสานวัฒนธรรมในปัจจุบันของเมืองตุนหวง เป็นต้นว่า "ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการยกระดับการอนุรักษ์ ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมแห่งโลกนี้จากรุ่นสู่รุ่น" "แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุตุนหวงและผลสำเร็จด้านการวิจัยของ ตุนหวงศึกษา’ พยายามที่จะเป็นผู้กุมสิทธิในการพูดเกี่ยวกับการวิจัยด้าน ‘ตุนหวงศึกษา’”

ฝาน จิ่นซือ กล่าวด้วยความซาบซึ้งใจว่า "สิ่งที่ท่านสนใจล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่เมืองตุนหวงกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน "

เวลาผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้ว นักข่าวได้เดินทางไปยังเมืองตุนหวง เมื่อออกเดินทางจาก อาคารเก้าชั้นถ้ำโม่เกาใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็มาถึงห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยตุนหวง นักข่าวได้เห็นอุปกรณ์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่รู้จักชื่อจำนวนมากกำลังดำเนินการอย่างเงียบ ๆ นายยี๋ว์ จงเหริน ซึ่งอยู่ในชุดเสื้อคลุมขาว ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยการอนุรักษ์ของสถาบันวิจัยตุนหวงพร้อมเพื่อนร่วมงานของเขา กำลังทำงานและหารือเกี่ยวกับผลการตรวจวัดอยู่หน้าอุปกรณ์และเครื่องมือทดสอบอันประณีตและซับซ้อน

น้อยคนนักที่จะเชื่อมโยงฉากดังกล่าวกับการอนุรักษ์โบราณวัตถุ และนี่ก็คือทิศทางในการใช้ความพยายามของผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมตุนหวง

การเน้นย้ำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสี จิ้นผิงได้สร้างความประทับใจอย่างลึกซึ้งต่อนายยี๋ว์ จงเหริน เขากล่าวว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้เสริมสร้างการวิจัยพื้นฐาน ศึกษากลไกการเกิดความเสี่ยงจากหลากหลายมุมมอง ได้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับกลไกในการเกิดผลกระทบต่อโบราณวัตถุของน้ำ เกลือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทุกวันนี้สถาบันวิจัยมีทีมอนุรักษ์ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่มากกว่า 200 คน และดำเนินการเป็นองค์รวมแบบ IUR (อุตสาหกรรม-มหาวิทยาลัย-งานวิจัย) มีบุคลากรที่ครอบคลุมกว่า 20 สาขา เช่น เคมี ธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม และชีววิทยา เป็นต้น

ในสายตาของนายสง เย่เถิง เจ้าหน้าที่รุ่น "หลังยุค 90" ที่เข้าร่วมทำงานด้านระบบดิจิทัลตุนหวงนั้น สิ่งที่เมืองตุนหวงดึงดูดเขามากที่สุด คือ การให้ความรู้สึกถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของถ้ำโม่เกา หลังผ่านการสำรวจและขุดค้นอย่างต่อเนื่อง การวิจัยด้าน ตุนหวงศึกษา” ได้รับการหลอมรวมและพัฒนาเข้าสู่สาขาวิชาต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง บุคลากรหลากหลายสาขาวิชาต่างก็หาตำแหน่งงานที่สามารถแสดงบทบาทตัวเองได้ที่นี่

"จิตรกรรมฝาผนังถ้ำโม่เกานั้นมีอุณหภูมิและพื้นผิว"  สง เย่เถิงกล่าวด้วยความประทับใจว่า "ท่านเลขาธิการใหญ่กล่าวว่า การอนุรักษ์โบราณวัตถุตุนหวงและการวิจัยด้าน ‘ตุนหวงศึกษา’ นั้นมีความกว้างขวางและลุ่มลึก ต้องทุ่มเทพลังกายใจตลอดชีวิตจึงจะเห็นผลและปรากฏเป็นผลงานได้ การให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมตุนหวงของท่านเลขาธิการใหญ่ทำให้ผมซาบซึ้งใจมาก ที่นี่มีเวทีที่กว้างใหญ่ ตุนหวงทำให้ผมต้องการอยู่ที่นี่”

ฤดูใบไม้ร่วง ปี 2021 ณ พระราชวังโบราณอันสง่างามในกรุงปักกิ่ง "นิทรรศการพิเศษตุนหวงในพระราชวังโบราณ" ดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลมาเข้าชมเป็นจำนวนมาก

สถาบันวิจัยตุนหวงได้แสวงหาวิธีการใหม่ ๆ ในการเปิดวัฒนธรรมดั้งเดิม ได้รังสรรค์นางฟ้าตุนหวงในชื่อ "กาเย๋า" อย่างประณีต เพื่อบอกเล่าตำนานตุนหวงที่มีมาแต่โบราณกาลด้วยรูปแบบแอนิเมชันและเนื้อหาเชิงตัวละคร จนได้รับความชื่นชอบจากคนหนุ่มสาว  

บนโลกอินเทอร์เน็ต คลังข้อมูล "ตุนหวงดิจิทัล" เวอร์ชั่นสองภาษา ได้แก่ ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ได้แบ่งปันภาพคมชัดทั้งหมดของ 30 ถ้ำจากถ้ำหินตุนหวงสู่ทั่วโลก

 "วัฒนธรรมตุนหวงเป็นของจีน แต่ ‘ตุนหวงศึกษา’ เป็นของทั้งโลก" ภายใต้การเอาใจใส่ของสี จิ้นผิง วัฒนธรรมตุนหวงได้รับการส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความคาดหวังของปธน.สี จิ้นผิง เช่น "ต้นแบบการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมแห่งโลก" และ "‘พื้นที่สูง’ แห่งการวิจัยด้าน ‘ตุนหวงศึกษา’" กำลังกลายเป็นจริงขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนท่ามกลางการใช้ความพยายามของลูกหลานเมืองตุนหวง

"วัฒนธรรมตุนหวงแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในตนเองทางวัฒนธรรมของประชาชาติจีน" ข้อสรุปของสี จิ้นผิงนี้ได้สะท้อนถึงความผูกพันและความคิดที่ลึกซึ้งของเขาที่มีต่อวัฒนธรรมตุนหวง

มีเพียงอารยธรรมที่เปี่ยมด้วยความมั่นใจในตนเองเท่านั้นจึงสามารถเปิดกว้าง เรียนรู้ และซึมซับอารยธรรมที่ต่างกันพร้อมไปกับการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ประจำชาติของตนเอง มีเพียงชนชาติที่มีความมั่นใจในตนเองเท่านั้นจึงสามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากทางประวัติศาสตร์ สามารถมีความทรหดอดทนต่อความยากลำบากนานัปการและมีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่นอย่างถาวร ตุนหวง คือ สักขีพยานเชิงอมตะของกระบวนการทางประวัติศาสตร์นี้

TIM/LU

 

     

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)