เมื่อไม่นานนี้ รถไฟที่นำผลไม้แช่แข็งขบวนแรกจากรถไฟสายจีนลาวได้เดินทางจากด่านบ่อหานของประเทศจีนและมุ่งหน้าไปยังนครคุนหมิง แล้วจึงขนส่งต่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งกว่างโจว ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น รถไฟขบวนนี้ ได้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 27 ตู้ที่บรรจุทุเรียนสดจากจังหวัดจันทบุรีกว่า 520 ตัน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 16 ล้านหยวน (ประมาณ 83 ล้านบาท )
นี่คือครั้งแรกที่ทางรถไฟสายจีน-ลาว รูปแบบการขนส่งที่ผสมผสานระหว่างทางรถไฟ+ทางหลวงโดยไม่เปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ สามารถควบคุมระยะเวลาการขนส่งผลไม้สดจากประเทศไทยมายังคุนหมิง มณฑลยุนนานไม่เกิน 7 วัน
ปีหลังๆ มานี้ คนจีนชื่นชอบรับประทานทุเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากการกินทุเรียนโดยตรงแล้ว ยังนำทุเรียนมาทำเป็นเค้ก ขนมหวาน ไอศกรีมและอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่ทุเรียนออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับช่วงที่วางจำหน่ายใหม่ ๆ และดึงดูดผู้รักทุเรียนจำนวนมาก
เช่นในตลาดผลไม้ม่านเก๋อ ในเขตสิบสองปันนา มีทุเรียนหลายชนิดวางจำหน่ายทั้ง หมอนทอง พวงมณี กระดุมและอื่น ๆ ทุเรียนเหล่านี้มีราคาที่แตกต่างกันไปตามคุณภาพและชนิด ราคาขายอยู่ที่กิโลละ 40-360 หยวน (ประมาณ 205-1,841 บาท) เจ้าของแผงขายทุเรียนเปิดเผยว่าเขาขายทุเรียนเจ็ดแปดสายพันธุ์ พันธุ์ที่ขายดีที่สุดคือพันธุ์พวงมณีของประเทศไทย เพราะว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดี มีผลผลิตค่อนข้างมาก และยังมีราคาที่พอเหมาะพอดี ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 หยวน (ประมาณ 256-307 บาท)
ที่ตลาดผลไม้ในกรุงปักกิ่งก็มีทุเรียนไทยวางขายอยู่มากมาย ช่วงสองสามปีมานี้ ชาวปักกิ่งที่ชอบและนิยมกินทุเรียนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ตอนนี้เนื่องจากว่าไปรับประทานทุเรียนสดที่เมืองไทยไม่ได้ ก็เลยซื้อทุเรียน มังคุดและผลไม้อีกหลายชนิดที่ขนมาจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราคาของทุเรียนอยู่ที่ 40 กว่า -60 กว่าหยวนต่อกิโลกรัม
แต่ทุเรียนที่ขายในปักกิ่งไม่เหมือนทุเรียนที่วางขายในตลาดไทยหรือตลาดยุนนาน นั่นคือ ทุเรียนในตลาดปักกิ่งค่อนข้างสุกจนเห็นได้ชัด นั่นคงเพราะว่า จากการเก็บ การขนส่งจนถึงเข้าสู่ตลาดในปักกิ่ง ต้องผ่านเวลาหลายวัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนไทยคงรู้สึกว่ามันสุกเกินไป กลิ่นแรงมาก ไม่ใช่ทุเรียนสดใหม่ๆ แต่สำหรับคนจีน อาจเพราะเคยชินแล้ว แม้ว่าคนไทยรู้สึกกลิ่นแรงมาก แต่คนจีนก็ยังชอบทุเรียนมากอยู่
หลังจากทางรถไฟสายจีนลาวเปิดใช้งานแล้ว ได้เพิ่มกำลังขนส่งและการค้าขายระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ รถไฟขนส่งสินค้าในเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งได้บรรทุกสินค้าอาหารและเครื่องจักรทางการเกษตรของนครฉงชิ่ง ได้เดินทางออกจากนครฉงชิ่งและจะถึงกรุงเวียงจันทน์ของลาวโดยใช้เวลา 4 วันนับจากออกเดินทาง นี่ถือเป็นรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกของจีนที่ได้ใช้รูปแบบ “ด่านรถไฟผ่านด่วน” ในเส้นทางรถไฟจีน-ลาว
รูปแบบ “ด่านรถไฟผ่านด่วน” ก็คือรูปแบบในการผ่านด่านทางรถไฟอย่างรวดเร็วทั้งขาเข้าและขาออก เป็นรูปแบบใหม่ที่ศุลกากรจีนนำมาใช้เพื่อให้ช่องทางการขนส่งทางรถไฟและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกทางรถไฟและยกระดับของการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร
ด้วยการผ่านด่านรูปแบบใหม่นี้ รถไฟสามารถเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมดในด่านออกเดินทาง ทั้งการแจ้งศุลกากร การตรวจสอบสินค้าและอื่น ๆ จากนั้นก็จะสามารถเดินทางออกจากด่านพรมแดนได้เลย ซึ่งช่วยลดเวลาการขนส่งได้ 1-2 วัน
ตั้งแต่เปิดเส้นทางในเดือนธันวาคมปี 2021 เป็นต้นมา มีรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว (เส้นทางฉงชิ่ง-เวียงจันทน์) ออกเดินทางแล้วมากกว่า 80 ขบวน มีมูลค่าสินค้าทะลุกว่า 300 ล้านหยวน (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ซึ่งถูกส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งลาว ไทย มาเลเซีย เมียนมา อีกทั้งยังขยายการขนส่งไปยังพื้นที่หลายส่วนของทั้งเอเชียและยุโรปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย