เมื่อพูดถึงมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว การขุดพบที่แหล่งโบราณคดีซานซิงตุย ถือว่าเป็นเรื่องที่ชาวจีนจับตามองกันมากที่สุดในช่วง 2 ปีมานี้
แม้ว่าจะยังไม่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่บรรดาโบราณวัตถุที่มีจำนวนมาก มีรูปลักษณ์ที่แปลกตาและดูลึกลับนั้น ต่างก็ล้วนดึงดูดสายตาของผู้คน
แหล่งโบราณคดีซานซิงตุยตั้งอยู่ในเมืองกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน ซึ่งในสมัยโบราณเรียกว่า “แคว้นสู่” มีประวัติยาวนาน 3,000-5,000 ปี ถูกยกให้เป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติในศตวรรษที่ 20
แหล่งโบราณคดีซานซิงตุยได้ค้นพบ “หลุมเซ่นไหว้” รวม 8 แห่งด้วยกัน ซึ่งการขุดค้นในแต่ละครั้งจะพบโบราณวัตถุชิ้นแปลกตาอยู่เสมอ และต่างก็ดึงดูดความสนใจไม่น้อย
อย่างเช่น หลุมหมายเลข 7 ที่ค้นพบภาชนะรูปทรงตาข่ายกระดองเต่า ด้านนอกมีรูปทรงรี ด้านในมีภาชนะหยกทรงรีชิ้นสมบูรณ์ที่นูนขึ้นมา ด้านบนของมันมีร่องรอยของการบุด้วยผ้าไหม บ่งชี้ว่าภาชนะชิ้นนี้ อาจถูกห่อไว้อย่างประณีตในสมัยนั้น บ่งบอกถึงความสำคัญของวัตถุชิ้นนี้
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องสัมฤทธิ์ขนาดเท่าฝ่ามืออีกชิ้นหนึ่ง ที่หนาเท่ากับกระดาษเอกสารทั่วไป ซึ่งในตอนนี้มันยังคงม้วนเข้าหากันอยู่ คาดว่าเมื่อมันถูกกางออกแล้ว อาจจะมีจารึกหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ อยู่ภายใน
ส่วนหลุมหมายเลข 8 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด ก็มีโบราณวัตถุฝังอยู่มากที่สุดเช่นกัน หนึ่งในนั้นมีแท่นบูชาสัมฤทธิ์สูงประมาณ 1 เมตร ด้านล่างสุดเป็นฐานกลวง บนฐานเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่ชูสัตว์วิเศษตัวเล็ก ๆ เอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีสัตว์วิเศษที่ทำจากสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่
ประติมากรรมสัมฤทธิ์คนร่างงู ภาชนะสัมฤทธิ์รูปมังกรจมูกหมูและอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นลักษณะของเครื่องใช้ในยุคสัมฤทธิ์ของจีนที่ไม่เคยพบมาก่อน