25 ปีหลังฮ่องกงคืนสู่จีน มุ่งแก้ปัญหาภายใน ก้าวผ่านช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

2022-06-28 13:52:10 | CMG
Share with:

ปีนี้เป็นปีที่ฮ่องกงคืนสู่จีนครบรอบเป็นปีที่ 25 ซึ่งนับจากวันที่ 1 กรกฏาคม 2540  ซึ่งเป็นวันที่อังกฤษคืนฮ่องกงสู่อำนาจการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ หลังจากที่สัญญาเช่า 99 ปีหมดอายุสัญญาลงในวันที่ 30 มิ.ย. ปีเดียวกันนั้น ช่วงนั้นเป็นยุคที่นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และนายเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำของจีน ซึ่งในรอบปีสองปีที่ผ่านมา ฮ่องกงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมาก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริการ โรงแรม ร้านอาหาร แทบไม่มีลูกค้าจากต่างประเทศเลย นอกจากนี้ฮ่องกงยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน อุตสาหกรรมพลังงาน ที่ส่งผลถึงผู้คนในเมืองเศรษฐกิจอย่างฮ่องกงอีกด้วย

อย่างไรก็ตามคณะผู้บริหารฮ่องกงใช้นโยบายถึง 3 อย่าง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ ช่วยเหลือผู้คนในภาวะข้าวยากหมากแพงเพราะโควิด-19  ได้แก่ 1.Consumption Voucher Scheme หรือ การแจกคูปองสำหรับซื้อหาเครืองอุปโภคบริโภค 2.Employment Support Scheme หรือ การมอบเงินช่วยเหลือแก่นายจ้างสำหรับนำไปจ้างแรงงาน ใช้เงินงบประมาณจาก Anti-epidemic Fund นายจ้างที่เข้าเกณฑ์สามารถเป็นได้ทั้งองค์กร ห้างร้าน บริษัท หรือธุรกิจส่วนตัว แต่ต้องไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือ เกี่ยวข้องกับรัฐ 3.Temporary Unemployment Relief Scheme หรือ เงินช่วยเหลือคนว่างงานจากการระบาดรอบที่ 5

โดยทั้งหมดนี้ได้แบ่งการช่วยเหลือเป็น 6 รอบเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ผู้บริหารฮ่องกงยังมุ่งเน้นทำให้ฮ่องกงมีเสถียรภาพมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะฮ่องกงเป็นประตูการค้าและอยู่ในแผน 1 แถบ 1 เส้นทาง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีน และ อยู่ในหมุดหมายวิสัยทัศน์ปี 2035 ซึ่งผ่านการลงมติในการประชุม 2 สภา ที่ระบุให้ฮ่องกงเป็นเลิศในด้านเศรษฐกิจ โดยฮ่องกงจะต้องเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศด้านการเงิน การขนส่งทางน้ำ การค้า ชุมทางการบินระหว่างประเทศ ชุมทางระหว่างประเทศของธุรกิจนอกชายฝั่งแห่งสกุลเงินเหรินหมินปี้ หรือ Offshore RMB Business ศูนย์บริหารทรัพย์สินระหว่างประเทศ ศูนย์บริหารความเสี่ยง  และ ด้านวิทยาการและกฎหมาย กล่าวคือ ฮ่องกงจะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ศูนย์บริการทางกฎหมายเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ศูนย์การค้าทรัพย์สินทางปัญญา 

ทั้งนี้ผู้บริหารฮ่องกงก็พยายามที่จะตอกย้ำภาพลักษณ์เก่าอันเป็นจุดเด่นของฮ่องกง ได้แก่ ภาพของเมืองท่องเที่ยว แหล่งบันเทิง ครัวแห่งเอเชีย แหล่งจับจ่ายใช้สอย สถานที่ทางการเงินของโลก และ เชิญชวนทุกคน ทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันสื่อสารความเป็นจีนเชิงบวกผ่านฮ่องกง เพราะต้องไม่ลืมว่า ฮ่องกงคือภาพแทนของจีน ฮ่องกงมีสถานะกึ่งเครื่องมือการทูตระหว่างจีนกับประชาคมโลก ภาพลักษณ์ที่ดีของฮ่องกงจะบ่งชี้ความก้าวหน้าในการปกครองของจีนพร้อมกับสื่อว่า จีนไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเสียหาย จีนยังสนับสนุนฮ่องกงให้มีเสถียรภาพให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ตลอดเวลา โดยเป้าหมายสูงสุดคือความมั่นคงสงบสุขของฮ่องกงในยุคหลังโควิด เหมือนกับทุกๆ ชาติที่จะต้องพยายามฟื้นการค้าการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกให้ได้มากที่สุด และร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาคมนานาชาติ  

ในวาระ 25 ปีหลังฮ่องกงคืนสู่จีน ผู้คนทั่วโลกต่างก็หวังจะเห็นทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนให้เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลกมากขึ้น คงสภาพความเป็นพื้นที่สำหรับเศรษฐกิจตลาดเสรี ที่มีการเก็บภาษีในอัตราต่ำ คงความเป็นเมืองท่าการค้า  ตลาดการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญของโลกต่อไป

เขียนโดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์

นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



  • เสียงข่าวประจำวัน (26-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-04-2567)