บทวิเคราะห์ : มาตรการต้านโควิดของจีนช่วยปกป้องห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

2022-07-26 14:58:57 | CMG
Share with:

ช่วงที่ผ่านมา สื่อตะวันตกบางสำนักใส่ร้ายนโยบายเข้มงวดของจีนในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ว่า ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้รับความเสียหาย การกล่าวหาของสื่อตะวันตกดังกล่าวทั้งไม่มีเหตุผลและขาดความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น

แท้จริงแล้วหากจีนไม่ได้ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ขณะนี้อาจเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก และราคาขายปลีกในร้านค้า Walmart และ Tesco ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ทั้งยังทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ มากขึ้น และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอ่อนแอลงมากกว่านี้

จีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของโลกและหนึ่งในผู้ให้บริการสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกได้ใช้นโยบายป้องกันและควบคุมโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ มาตรการที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้รวมถึง การรับมือการระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็ว การตรวจคัดกรองในวงกว้าง และการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วประเทศ มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างต่ำ หากยังปูทางสำหรับการกลับมาดำเนินการผลิตและใช้ชีวิตตามปกติอย่างรวดเร็วหลังการระบาดของโควิด-19 ถูกควบคุมได้แล้ว

แม้ท่าเรือและโรงงานจำนวนหนึ่งในจีนได้รับผลกระทบชั่วคราวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการใช้มาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 แต่ธุรกิจต่าง ๆ ในจีนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหายมากนักจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุด เช่น ทันทีที่การระบาดในท้องถิ่นลดลง ผู้ผลิตในเมืองเซินเจิ้นและนครเซี่ยงไฮ้ของจีนก็ได้ฟื้นฟูการผลิตอย่างรวดเร็ว และกลับมาส่งมอบผลิตภัณฑ์ เช่น โทรศัพท์ไอโฟนและรถยนต์เทสลาสู่ผู้บริโภคทั่วโลกอย่างรวดเร็วอีกครั้ง

เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศการค้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกสามารถกลับคืนสู่ภาวะการผลิตที่เป็นปกติอย่างรวดเร็วหลังควบคุมการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุดได้ จึงทำให้การส่งออกของจีนยังคงแข็งแกร่ง ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา จากข้อมูลล่าสุด ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้การระบาดของโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างต่อเนื่อง แต่การค้าต่างประเทศของจีนยังคงขยายตัวร้อยละ 9.4 คิดเป็นเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์มองว่า หากจีนไม่ได้ส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่อง การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อที่ประเทศตะวันตกกำลังเผชิญทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หากพิจารณาในแง่นี้ นโยบายที่เข้มงวดของจีนในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ไม่เพียงแต่ไม่ได้ทำลายห่วงโซอุปทานโลก หากยังเป็นประโยชน์ต่อการรักษาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกด้วยซ้ำ

สำนักข่าว Bloomberg ระบุในรายงานข่าวหัวข้อ “ทำไมโลกถึงต้องการให้จีนใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์” ว่า  หากผู้บริโภคและวิสาหกิจทั่วโลกต้องการสั่งซื้อสินค้าผลิตในจีนต่อไป โดยไม่ต้องทนต่อการขาดแคลนและการขึ้นราคาสินค้าอีก พวกเขาก็ต้องสนับสนุนจีนในการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ zero covid ต่อไป

รายงานข่าวดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ข้อเท็จจริงในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า การปิดการผลิตชั่วคราวในบางพื้นที่ของจีนไม่ได้หมายความว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในจีนจะหยุดทำงาน และหยุดการส่งออกสินค้า ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การที่จีนใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์นั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกนั้นมีความซับซ้อนมาก เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยพลการของสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีมานี้ กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และการกีดกันทางการค้าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็ได้สร้างอุปสรรคมากมายต่อการค้าโลกเช่นกัน และทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเกิดความไม่แน่นอนและความซับซ้อนมากขึ้น

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การกล่าวหาจีนโดยไม่มีมูลนั้นจะไม่เป็นประโยชน์กับการต่อต้านการกีดกันทางการค้าและการรักษาความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานโลก


(tim/cai)

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)