ภาพจิตรกรรมเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือในพระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

2022-08-01 21:15:03 | CMG
Share with:

อาจารย์ปริวัฒน์ จันทร 

ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร มีพระวิหารหลังหนึ่ง มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบเก๋งจีน เป็นลักษณะพระวิหารน้อย 3 ห้อง มีเก๋งโถง 2 ข้าง มีประตูเข้าทางทิศใต้ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตรงคลองที่ให้ถมระหว่างพระเจดีย์องค์ใหญ่และวิหารพระศาสดา โดยตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกับวิหารพระศาสดา

ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารเก๋งขึ้นใหม่ ทำลวดลายและตกแต่งภาพจิตรกรรมภายในอย่างจีน ให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “สามก๊ก” ขึ้น พร้อมทั้งจารึกคำอธิบายภาพแต่ละตอนไว้ใต้ภาพ และมีภาพของตัวละครเอกเขียนตัวอักษรไทยอย่างจีนบนธงแม่ทัพและธงรบ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจฉากตอนในภาพมากขึ้น แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของอดีตเจ้าอาวาสผู้ครองวัดมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารเก๋งนี้ ปัจจุบันมีรวม 3 องค์คือ

1.พระพุทธวชิรญาณ เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหาร

2.พระพุทธมนุสสนาค เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระพุทธรูปยืนครองจีวรคลุมสองพระอังสา ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านตะวันตก เบื้องล่างบรรจุพระอังคารของพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิชรญาณวโรรส

3.พระพุทธปัญญาอัคคะ เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระพุทธรูปยืนครองจีวรคลุมสองพระอังสา ประดิษฐานพระวิหารด้านตะวันออก เบื้องล่างบรรจุพระอังคารสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

ภาพจิตรกรรมภายในพระวิหารเก๋ง สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของช่างฝีมือชาวจีนกับทีมงานช่างไทยในสายสกุลช่างขรัวอินโข่ง เพราะภาพจะมีการใช้เทคนิคผลักระยะ Perspective ทำให้มีความชัดลึกอย่างชัดเจน ภาพจะเล่าเรื่องจากห้องด้านบนเวียนทวนเข็มนาฬิกาจนครบรอบ แล้วลงมาห้องด้านล่างเวียนทวนเข็มนาฬิกาจนจบเรื่อง เขียนเรื่องสามก๊กในฉากตอนอันเป็นที่รู้จักกันดีคือตอน “โจโฉแตกทัพเรือ” หรือ “ยุทธนาวีเช็กเพ็ก-ซื่อปี้จือจั้น” อันลือลั่นและเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น

นับตั้งแต่ฉากชีซีไปจากเล่าปี่เพื่อกลับไปเมืองฮูโต๋ เพราะโจโฉได้ปลอมลายมือแม่ชีซี เขียนจดหมายมาบอกชีซีว่าถูกโจโฉจับกุมตัวให้รีบกลับมาฮูโต๋พบแม่ ก่อนกลับไปฮูโต๋ ชีซีได้แนะนำกุนซือคนใหม่ให้เล่าปี่คือขงเบ้ง แล้วแวะไปที่เขาโงลังกั๋งเพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้ขงเบ้งทราบก่อน มีภาพของชีซีขี่ม้าเข้าเมืองฮูโต๋ จากนั้น จะเป็นภาพของเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ขี่ม้าไปเยือนกระท่อมหญ้าขงเบ้งที่เขาโงลังกั๋ง

จากนั้น จะเป็นฉากหลังจากที่ขงเบ้งมาเป็นกุนซือให้ขงเบ้ง ทำกลศึกให้กวนอูสั่งทหารปิดทำนบแม่น้ำแปะโห แล้วปล่อยออกทำให้ทหารฝ่ายโจหยิน โจฮอง จมน้ำตายลงเป็นจำนวนมาก ถัดไปเป็นฉากตอนโจโฉคิดไปตีเมืองกังตั๋ง โจโฉขุดบ่อน้ำให้ทหารฝึกซ้อมทหารเรือ

แล้วเข้าสู่เหตุการณ์ในยุทธนาวีเซ็กเพ็ก ตั้งแต่โจโฉให้เจียวก้านไปเกลี้ยกล่อมจิวยี่ ขงเบ้งรับอาสาจิวยี่เอาลูกเกาทัณฑ์แล้วคุมกองเรือมารับลูกเกาทัณฑ์จากกองทัพโจโฉอันเป็นที่รู้จักกันดี ตอนจิวยี่ทำอุบายเฆี่ยนอุยกาย ตอนเจียวก้านอาสาโจโฉไปสืบข่าวในกองทัพจิวยี่ ตอนจิวยี่เลี้ยงสุราอาหารและพาเจียวก้านดูกองทัพฝ่ายตน ตอนจิวยี่ขึ้นไปดูค่ายโจโฉบนเนินเขา เห็นธงชัยโจโฉหัก แล้วธงจิวยี่ก็หักลงมาด้วย จิวยี่เสียใจอาเจียนรากเลือด ตอนขงเบ้งเรียกลมอาคเนย์แล้วรีบลงเรือหนีกลับเกงจิ๋ว

ตอนโจโฉสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ใช้เรือมาเรียงเป็นแพขนาน ตอนจิวยี่เผาทำลายกองทัพเรือโจโฉ โจโฉต้องหนีเพลิงขึ้นบก ตอนกองทัพจิวยี่เผาทำลายค่ายโจโฉ โจโฉขี่ม้าพาทหารหนีไป โจโฉถูกสกัดทัพโดยทัพของกำเหลงแม่ทัพฝ่ายโจโฉสู้จนตัวตาย ส่วนโจโฉหนีไปได้ มาจนถึงฉากใหญ่สุดท้ายตอนโจโฉหนีทัพจูล่ง เตียวหุย โดยมีเคาทูเตียวเลี้ยวซิเหลงออกมารบพุ่งช่วยโจโฉ แล้วหนีตามโจโฉไป สุดท้ายโจโฉถูกทัพกวนอูสกัดกั้น โจโฉขอให้กวนอูรำลึกถึงบุญคุณของตนแต่หนหลัง กวนอูยอมปล่อยโจโฉไปแต่โดยดี อันถือเป็นฉากจบสุดท้ายภายในพระวิหารเก๋ง

อาจกล่าวได้ว่า ภาพจิตรกรรมเรื่องสามก๊กในพระวิหารเก๋งนี้ มีความสวยงามสมบูรณ์แบบมากที่สุดที่ปรากฏในประเทศไทย ทั้งองค์ประกอบของฉาก การวาดภาพลายเส้น การลงสี การผลักระยะของภาพ มีคำอธิบายภาพประกอบ มีชื่อตัวละคร ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามชมภาพได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญนับเป็นฉากตอนของพงศาวดารสามก๊กที่สนุกเป็นที่รู้จักแพร่หลายของแฟนนักอ่านทั้งชาวไทยและชาวโลกมากที่สุด


  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)