ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถานการณ์จีน-ไต้หวันกลับสู่ความตึงเครียดอีกครั้งหลังจากนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม เป็นการเยือนโดยผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1997 จีนถือว่า การแสดงออกดังกล่าวขัดแย้งกับเจตจำนงเรื่องจีนเดียวรวมทั้งท่าทีของสหรัฐฯ ที่ให้การยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะตัวแทนชนชาติจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 มาตรการตอบโต้จึงถูกเผยให้เห็นทันทีที่นางเปโลซีเดินทางถึงที่หมาย
จากข้อมูลวันที่ 3 สิงหาคม ทางการจีนได้เปิดการซ้อมรบทั้งภาคพื้นดิน อากาศ และทะเล มีการส่งเครื่องบินเข้าน่านฟ้าไต้หวันรวมทั้งปล่อยกองเรือรบล้อมรอบเกาะ แต่ไม่มีรายงานการเปิดฉากยิง หรือ ยกพลขึ้นบก ณ จุดใด พร้อมกันนี้จีนประกาศระงับการนำเข้าสินค้าหมวดอาหารจากบริษัทไต้หวันจำนวน 2,066 แห่ง บริษัทอีก 35 แห่งถูกระงับการนำเข้าสินค้าหมวดบิสกิต ขนมอบ และขนมปัง ตามมาด้วยคำสั่งควบคุมสินค้านำเข้ากลุ่มเกษตร-ประมง จีนยังระงับการส่งออกทรายไปไต้หวัน โดยทรายถือเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไต้หวัน ส่วนมาตรการอื่น ๆ จะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการวางตัวของทั้งไต้หวันและสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเยี่ยมเยือน
ความจริงจังต่อกรณีไต้หวันมีที่มาจากความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ไต้หวันเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนย้อนไปได้ไกลถึงปี ค.ศ. 239 แม้จะผ่านการครอบครองโดยดัชต์ในปี ค.ศ. 1624-1661 และญี่ปุ่นช่วงล่าอาณานิคมจวบจนสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา ไต้หวันก็หวนคืนสู่อ้อมอกจีนทุกครั้งก่อนจะแยกตัวออกไปเป็นฐานที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่นภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋งในปี ค.ศ. 1949 เนื่องจากพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมือง
การรวมชาติกับไต้หวันเป็นหนึ่งในความฝันสูงสุดของจีนเสมอ เหมือนที่จีนเคยเฝ้าฝันถึงการรวมตัวกับมาเก๊าและฮ่องกง เพราะจีนถือว่า แผ่นดินจีนมีเพียงหนึ่งเดียวและชาวไต้หวันก็คือพี่น้องของจีน ด้วยเหตุนี้จีนจึงสงวนการใช้กำลังเพื่อให้เกิดความไว้วางใจตลอดเวลา ขณะที่ไต้หวันเองก็ผ่อนคลายการเยี่ยมเยือนรวมทั้งการลงทุนในประเทศจีนมาอย่างยาวนาน กระทั่งอ้างว่า สงครามกับจีนได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1991 ส่วนจีนประกาศเสมอว่า จะพึ่งพาสันติวิธีในการรวมชาติ จีนยังเปิดพื้นที่ทางการค้ากับไต้หวันมากเป็นพิเศษจนทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไต้หวันด้วยมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้น 26% ในปี ค.ศ. 2021 มูลค่าการค้าจีน-ไต้หวันคิดเป็นตัวเลข 328.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามากถึง 172 พันล้านเหรียญสหรัฐ และทำหน้าที่เป็นตลาดรองรับสินค้าเกษตรไต้หวันราว 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ คิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไต้หวัน นี่เป็นสิ่งที่แม้สหรัฐฯ เองก็วาดหวังให้เกิดขึ้นกับการค้าสหรัฐฯ-จีน
อย่างไรก็ดีกระแสต่อต้านจีนในไต้หวันยังคงก่อเกิดเป็นระยะ กระแสนี้เห็นได้จากการประท้วง วาทกรรมประจำวัน รวมไปถึงความนิยมพรรค DPP (Democratic Progressive Party) ของ นางไช่ อิงเหวินซึ่งแสดงท่าทีปฏิเสธการรวมชาติอย่างชัดเจน ยามที่จีนใช้แนวทางสันติเพื่อพิสูจน์ความจริงใจ จีนก็ต้องระวังกระแสทัดทานที่อาจขัดขวางเส้นทางพัฒนาความสัมพันธ์สองฝ่าย การยุแหย่จากภายนอกเพื่อเสริมส่งแนวทางดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่จีนไม่อาจยอมรับ
แต่การตอบโต้ต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล จีนยังคงยึดมั่นคำประกาศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงซึ่งกล่าวในงานรำลึกวันครบรอบ 110 ปี ปฏิวัติจีนปี ค.ศ. 1911 ว่า จะต่อสู้เพื่อการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยสันติวิธีเพื่อบรรลุผลประโยชน์สูงสุดของทั้งไต้หวันและจีน เพราะฉะนั้นมาตรการตอบโต้จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะใช้กำลังทำลายล้างจริง ๆ และจีนต้องการให้ฝ่ายที่ต้องการแยกตัวอย่างสมบูรณ์ได้ประจักษ์ในความพร้อมของจีนหากมีความพยายามบีบบังคับด้วยยกระดับการปฏิเสธแนวทางรวมชาติ ไม่เช่นนั้นจีนคงจะเลือกใช้ปฏิบัติการขั้นสูงสุดไปแล้วตั้งแต่วินาทีที่นางเปโลซีบินถึงไต้หวัน
ในแง่นี้โอกาสสู้รบเหมือนกรณียูเครนยากที่จะเกิดขึ้น เพราะมันคือความปรารถนาของทั้งชาวจีนและชาวไต้หวันอีกหลายคนที่ไม่อยากจะประหัตประหารกันเอง ต้องไม่ลืมว่า จีนกับไต้หวันเกี่ยวดองกันอย่างมากในทางเศรษฐกิจ ความแนบแน่นของสองฝ่ายสูงเกินกว่าจะหยุดยั้งง่าย ๆ และการเยี่ยมเยือนของนางเปโลชีก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามยั่วยุให้เกิดการสู้รบเพื่อตัดกำลังในยามที่จีนกับพันธมิตรกลุ่ม BRICS กำลังประสบความสำเร็จเรื่องเครือข่ายการค้าซึ่งขั้วอำนาจเก่าไม่ต้องการให้เกิดขึ้น การตามเกมยั่วยุจึงมีแต่จะทำให้แผ่นดินของสองฝ่ายนองเลือดโดยไม่จำเป็น กลุ่มอำนาจเก่ายังได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถเป็นที่พึ่งทั้งในทางความมั่นคงและเศรษฐกิจได้ดังกรณียูเครน ยูเครนกลายเป็นกับดักสงครามสำหรับชาวยูเครนเสียเอง ในทางกลับกันความร่วมมือกับจีนจะสามารถประกันความยั่งยืนได้มากกว่าเพราะตอบโจทย์ทางการค้าของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในยามที่จีนต้องการเซมิคอนดักเตอร์และไต้หวันก็เป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลก
เหนืออื่นใดทั้งจีนและไต้หวันคือเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน จีนให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้มาก มากจนจีนสามารถรอการรวมชาติได้แม้จะใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม หากจะมีสงครามเกิดขึ้นจริง สงครามนั้นจะเป็นศึกระหว่างจีนกับผู้รุกรานต่างชาติ ไม่ใช่คนร่วมวัฒนธรรมในสายตาของจีน