ความเป็นมาของเทศกาลชีซี

2022-08-15 10:51:10 | CMG
Share with:

          เทศกาลชีซี ตรงกับวันที่ 7 เดือนที่ 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เป็นเทศกาลของจีนที่มีมาช้านาน เทศกาลนี้ จริงๆ แล้วเป็นเทศกาลที่ได้มาจากการเคารพดวงดาวบนท้องฟ้า และมักจะมีกิจกรรมบูชาจัดขึ้นมาในค่ำคืน จึงมีประเพณีในการอธิษฐานขอพร นั่งมองดวงดาวที่เป็นคู่รักในนิทานจีน ขอให้มีคู่ครองสมหวัง เป็นต้น เนื่องจากในประวัติศาสตร์หลายพันปีที่ผ่านมานี้ เทศกาลชีซีมีความเกี่ยวข้องกับนิยายความรักของชายเลี้ยงวัวและสาวทอผ้า จึงทำให้กลายเป็นเทศกาลแห่งความรัก และยอมรับกันว่า เป็นเทศกาลที่มีความโรแมนติกของจีน หรือเป็นวันวาเลนไทน์จีนในยุคปัจจุบัน

          เทศกาลชีซีได้เริ่มตั้งแต่สมัยโบราณ และได้เริ่มเผยแพร่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีความเจริญขึ้นมาในราชวงศ์ซ่ง ในสมัยโบราณ เทศกาลชีซีเป็นเทศกาลเฉพาะสาวๆ เท่านั้น ส่วนประเพณีมากมายหลากหลายนั้น บางส่วนหายไปแล้ว บางส่วนก็ได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของจีน อาทิ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ก็ได้รับอิทธิพลและมีการเฉลิมฉลองเทศกาลชีซีเช่นกัน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีจีนจัดเทศกาลชีซีอยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกวัฒนธรรมอวัตถุระดับชาติรุ่นแรก

         จริงๆ แล้ว ชาวจีนโดยเฉพาะชาวจีนสมัยโบราณ จะมีความละเอียดอ่อนต่อตัวเลขและวันเวลา มีการเคารพนับถือตัวเลขพิเศษ โดยชาวบ้านทั่วไปจะถือวันที่ 1 เดือนอ้าย, วันที่ 2 เดือน 2, วันที่ 3 เดือน 3, วันที่ 5 เดือน 5, วันที่ 6 เดือน 6, วันที่ 7 เดือน 7 และวันที่ 9 เดือน 9 เป็นวันมงคล ซึ่งเป็นวันที่มีวันซ้ำกับเดือน วันซ้ำหรือวันซ้อนถูกมองว่าเป็นวันเวลาที่ฟ้าดินมีการสัมผัสกันและสวรรค์กับมนุษย์สามารถสื่อสารกันได้ นอกจากนี้ การเคารพตัวเลขของคนจีนสมัยก่อน ยังมีการให้ความสำคัญกับเลข 5 กับเลข 9 จนกระทั่งเป็นตัวเลขประจำกษัตริย์ด้วย ส่วนเลข 1 ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ ฐานะและเกียรติศักดิ์

          นิทานความรักที่บอกเล่ากันในหมู่ชนก็คือ ชายหนุ่มที่ไปรักกับเทพธิดา ต้องแยกอยู่กันคนละที่ มีแต่ในคืนวันที่ 7 เดือน 7 ของแต่ละปีเท่านั้น ทั้งคู่จึงจะมีโอกาสได้พบกัน หญิงสาวทั้งหลายก็จะมีการจัดโต๊ะบูชา วางผลไม้และขนมต่างๆ เพื่อขอพรกับเทพธิดาในตำนานซึ่งทอผ้าเก่งมาก ขอให้ตนเองมีจิตใจงดงามและมีฝีมือยอดเยี่ยมเหมือนเทพธิดา รวมทั้งขอให้มีความรักสมหวัง

          เทศกาลนี้มีมาจนถึงปัจจุบันก็หลายพันปีแล้ว ในหมู่บ้านชนบทต่างๆ ยังคงมีการจัดกิจกรรมเช่นเดิมเพื่อรำลึกถึงประเพณี แต่ในเมือง ส่วนใหญ่ไม่มีการจัดพิธีบูชาแล้ว แต่หนุ่มๆ สาวๆ ก็ถือโอกาสนี้ ได้บอกรักกันและขอให้ได้คู่ครองที่ดี สำหรับคนทำธุรกิจค้าขาย ยิ่งพลาดไม่ได้ที่จะถือโอกาสนี้ จัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับคู่รัก และเป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีทีเดียว

Yim/Ping

  • เสียงข่าวประจำวัน (19-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (19-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (19-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-04-2567)