ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนกับ APEC 2022

2022-08-24 09:05:29 | CMG
Share with:

APEC ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีที่มาจากแนวทางของกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่ต้องการการหารือในด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง APEC เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาในปี 1989 และขยับขยายจนครอบคลุมสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  เวียดนาม จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ชีลี เม็กซิโก เปรู ปาปัวนิวกินี รัสเซีย และ จีนไทเป ทั้งหมดทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะอำนวยการส่งออก เคลื่อนย้ายแรงงานและทุน เปิดทางให้แก่การค้าระหว่างกัน รวมถึงใช้ระเบียบการค้าร่วมกัน  

 การประชุม APEC จัดขึ้นทุกปี ไทยเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ ปี 1992 และ 2003 ครั้งแรกเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ทำข้อตกลงระหว่างสมาชิก 15 สมาชิก แต่ครั้งหลังเป็นการประชุมระดับผู้นำจากสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ การประชุมครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยอีกเช่นกัน ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ใช้แนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

 การเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 ของไทยได้รับการจับตามากเป็นพิเศษ เพราะว่าด้วยการพบปะกันระหว่างผู้นำจีนและสหรัฐฯ (รวมทั้งรัสเซีย) ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศรวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้าและวิกฤตโควิด-19 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ยืนยันจะเข้าร่วมประชุมเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน

 ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้ถือโอกาสนี้ผลักดันประเด็นการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก การคมนาคมข้ามพรมแดน และการส่งเสริมความยั่งยืนในเรื่องการค้า การคลัง ป่าไม้ การเกษตร กิจการสตรี สุขภาพ และวิสาหกิจขนาดกลาง/เล็ก/ย่อย ประเด็นการประชุมของไทยสะท้อนความต้องการฟื้นฟูภูมิภาคของชาติสมาชิกหลังจากความขัดแย้งต่าง ๆ รวมทั้งภัยโควิด-19 ได้บ่อนทำลายความสัมพันธ์และเศรษฐกิจระหว่างกัน การยืนยันเข้าร่วมประชุมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงสื่อความตั้งใจของจีนที่จะร่วมสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาค นี่ไม่เพียงสอดรับกับแนวทางเชื่อมโยงที่จีนพยายามผลักดันเสมอมา แต่ยังเผยให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพของไทยโดยไม่หวั่นเกรงต่อแรงกดดันจากปัญหาขัดแย้งใด ๆ

 นอกจากเจตจำนงอันมั่นคงแล้ว ความสัมพันธ์กับอุษาคเนย์ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้จีนยินดีกับการเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทย รายงานหลายฉบับระบุตรงกันว่า การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ผ่านมาส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของจีน ในปี 2021 มูลค่าการค้าจีน-อาเซียนอยู่ที่ประมาณ 878.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนส่งออกไปยังอาเซียน 483.69 พันล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากอาเซียน 394.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนาม มาเลเซีย และไทยคือ 3 ชาติอาเซียนที่ทำการค้ากับจีนมากที่สุด แม้สมาชิกอาเซียนไม่ได้อยู่ในกลุ่ม APEC ทั้งหมดเพราะขาดเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา การขยับเขยื้อนใด ๆ ก็ตามของ 7 ประเทศอาเซียนใน APEC ย่อมส่งผลต่อประชาคมโดยรวมเนื่องจากอาเซียนเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ความใส่ใจของจีนต่ออาเซียนในเวที APEC จึงไม่ต่างจากบทบาทเพื่อนบ้านที่มีต่ออาเซียนทั้งหมด

 ในการนี้จีนให้ความร่วมมือแก่การประชุมเสมอมาเพื่อให้เกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย นับตั้งแต่เข้าร่วมในปี 1991 จีนได้พยายามแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์โดยเฉพาะการสร้างกลไกเศรษฐกิจกลุ่ม APEC ให้มีความลื่นไหล อย่างในปี 2020 จีนบริจาคเงิน 1.42 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับส่งเสริมความร่วมมือ การค้า การลงทุนในกรอบ APEC และถ้าย้อนไปในช่วงทศวรรษแรกของการเข้าร่วม จีนได้พยายามสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การประชุมเกี่ยวกับการขยายตัวของวิสาหกิจขนาดกลาง/เล็ก/ย่อยในปี 1993 การประชุมว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในปี 1994  การประชุมกลุ่มประมงในปี 1995 การประชุมพลังงานสะอาดในปี 1996 การประชุมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปี 1997 และอีกมากมาย ความสนับสนุนของจีนไม่ได้จำกัดแค่การค้าการลงทุน แต่มุ่งความยั่งยืน การเจรจาในวง APEC สำหรับจีนจึงไม่ใช่ภารกิจสู่ความมั่งคั่ง แต่เป็นความพยายามลดช่องว่างระหว่างสมาชิกจากหลากหลายสถานะ

 อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในเวที APEC อาจไม่น่าสนใจ หากไม่มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะการประชุมดังกล่าวคือความพยายามสกัดความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอาเซียนโดยตรง สหรัฐฯ ได้แสดงบทบาทเชิงรุกด้วยการเสนอความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของสองฝ่ายอันตรงกับนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเรื่องการกลับมานำโลกอีกครั้ง ผลสรุปการประชุมในตอนท้ายก็เป็นความลับ หลายฝ่ายจึงคาดกันว่า APEC อาจจะเป็นอีกเวทีที่สหรัฐฯ พยายามลดบทบาทของจีนในอุษาคเนย์

 แต่ถ้าพิจารณาสัญญาณต่าง ๆ จะพบว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในเวที APEC จะยังคงเต็มไปด้วยความมั่นคง การมีส่วนร่วมของจีนในอดีตสะท้อนผลเชิงบวกต่อสมาชิกจากอาเซียนมากกว่าจะบั่นทอน อีกทั้งทุกชาติต่างก็ยึดมั่นคำประกาศสมัยร่วมก่อตั้ง นั่นคือสานความร่วมมือเพื่อให้เอเชีย-แปซิฟิกกลายเป็นพื้นที่อำนวยการค้าสำหรับทุกฝ่าย ความมั่นคงดังกล่าวเห็นได้ชัดจากแนวคิดการประชุมที่ว่า “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หมายความว่า จะไม่มีชาติใดถูกโดดเดี่ยวในการประชุมครั้งนี้ และ APEC จะเป็นอีกช่วงเวลาของการประกาศจุดยืนซึ่งจะฉายความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในระยะต่อไป


ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)