ถ้ำโม่เกาบนเส้นทางสายไหมโบราณมีความหมายอย่างไรต่อจีนปัจจุบัน

2022-10-11 09:24:32 | CRI
Share with:

เมืองตุนหวงของมณฑลกันซู่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นที่ตั้งของหมู่ถ้ำหินโม่เกาที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี เมื่อปี 1987   ถ้ำหินเหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.2019  นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเดินทางไปเยี่ยมชมถ้ำโม่เการะหว่างการลงพื้นที่ตรวจงานที่มณฑลกันซู่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงชี้ว่า วัฒนธรรมตุนหวงแสดงถึงความเชื่อมั่นของชาวจีนในวัฒนธรรมของตนเอง เขายังกล่าวด้วยว่า “ต้องเชื่อมั่นในวัฒนธรรมของประเทศตน แล้วจึงสามารถซึมซับและดึงดูดวัฒนธรรมอันยอดเยี่ยมของประเทศอื่น พร้อมทั้งรักษาวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของตนไว้”  

ถ้ำโม่เกาสร้างขึ้นครั้งแรกในค.ศ. 366 เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทางพุทธศิลป์ของจีนช่วงศตวรรษที่ 4 - 14 แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมที่หลากหลายตามเส้นทางสายไหมโบราณ  

นายเจิ้ง ปิ่งหลิน ผู้อำนวยการสถาบันตุนหวงศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยหลานโจวกล่าวว่า  ถ้ำพุทธศิลป์เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย และถูกสร้างขึ้นสำหรับการทำสมาธิของพระสงฆ์ เมื่อประชากรพระสงฆ์เพิ่มขึ้น  จำนวนถ้ำที่มีศิลปะทางพุทธศาสนาก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  

ในหมู่ถ้ำหินโม่เกา  มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง 45,000 ตารางเมตร กระจัดกระจายอยู่ในถ้ำหิน 735 แห่ง ที่รู้จักกันในนามถ้ำพระพุทธรูปพันองค์     ในช่วงเวลากว่า 1,000 ปีที่ผ่านมา  พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นทั้งศาสนสถาน และจุดแวะพักสำหรับพ่อค้าที่ทำการค้าขายตามเส้นทางสายไหม อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบนเส้นทางสายไหมโบราณด้วย  

วัฒนธรรมตุนหวงเป็นวัฒนธรรมที่ได้ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน  ตลอดจนวัฒนธรรมต่างประเทศเข้าด้วยกัน 

นายฟู่ เสียงโป ผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันวิจัยวิจิตรศิลป์ตุนหวง กล่าวว่า   มีประติมากรรมสีมากกว่า 2,000 ชิ้นในถ้ำโม่เกา ตั้งแต่ “ราชวงศ์เป่ยเหลียง” ในยุค 16 แคว้น (ค.ศ.317-420) จนถึงราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) การผสมผสานระหว่างพุทธศาสนาจากต่างประเทศและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้พัฒนาเป็นศิลปะประติมากรรมสีที่มีเอกลักษณ์ของศิลปะตุนหวง  

นอกจากประติมากรรมสี  ภายในหมู่ถ้ำโม่เกายังมีคัมภีร์ หนังสือ เอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก  

นายหวัง ตง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยตุนหวง กล่าวว่า คัมภีร์ หนังสือ เอกสารที่ได้พบในถ้ำโม่เกามีเนื้อหาหลากหลายมาก เช่น วรรณกรรมของชนกลุ่มน้อยโบราณ  เอกสารทางศาสนา และงานศิลปะด้านต่างๆ รวมถึงภาพวาดผ้าไหม ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงชีวิตทางสังคมและประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนและประเทศตะวันตกในสมัยนั้น

ถ้ำเก็บพระคัมภีร์ในบริเวณหมู่ถ้ำหินโม่เกาถูกพบโดยบังเอิญ โดยนักพรตเต๋ารูปหนึ่ง  ภายในถ้ำเก็บพระคัมภีร์ที่ถูกปิดสนิทนานกว่า 850 ปีแห่งนี้  มีโบราณวัตถุรวมมากกว่า 50,000 ชิ้น  แต่เนื่องจากความเสื่อมทรามของรัฐบาลที่ทุจริตในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย  พระคัมภีร์จำนวนมากถูกนักผจญภัยจากต่างประเทศขโมยไป  ปัจจุบัน โบราณวัตถุที่เหลืออยู่ในถ้ำพระคัมภีร์แห่งนี้มีเพียง 7,000 - 8,000 ชิ้นเท่านั้น

ค.ศ. 1944 สถาบันวิจัยศิลปะตุนหวงก่อตั้งขึ้น  และได้ขยายขอบเขตการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศิลปะด้านต่างๆในถ้ำโม่เกา หลังจากนั้น ถ้ำโม่เกาเริ่มได้รับการอนุรักษ์มาโดยตลอด 

จากการใช้ความพยายามของนักโบราณคดีและนักวิจัยรุ่นต่อรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น  ภารกิจตุนหวงศึกษาได้พัฒนาขึ้นสู่ระดับใหม่ 

นายเจ้า เซิงเหลียง    หัวหน้าสถาบันตุนหวงศึกษากล่าวว่า   หมู่ถ้ำหินโม่เกาเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่อันล้ำค่าแต่เพียงหนึ่งเดียวในโลก    โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของประชาชาติจีนมากขึ้น เราจึงต้องอนุรักษ์ถ้ำโม่เกาให้ดีและสืบสานวัฒนธรรมตุนหวงตลอดไป  

ค.ศ. 1987 หมู่ถ้ำหินโม่เกาได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

นาย KAMDEM BOUOBDA THIERRY SAMUEL นักศึกษาชาวแคเมอรูนจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยหลานโจวกล่าวว่า  หากต้องการให้อารยธรรมของประเทศตนพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ก็ต้องศึกษาเรียนรู้อารยธรรมของประเทศอื่นๆด้วย  วัฒนธรรมตุนหวงเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในแง่มุมนี้  

ปัจจุบัน ตุนหวงศึกษาได้ดึงดูดนักวิชาการและนักวิจัยจากประเทศต่างๆเป็นจำนวนมาก ถ้ำโม่เกายังได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจีน ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 21 ล้านคนนับตั้งแต่วันที่เปิดให้เข้าชมเป็นต้นมา  ทุกวันนี้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนยังได้จัดนิทรรศการโบรารณวัตถุในถ้ำโม่เกาผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ชาวโลกสามารถเข้าถึงศิลปะตุนหวงมากขึ้น  

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวขณะเข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่สถาบันตุนหวงศึกษาที่จัดขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2019 ว่า    หากเราต้องการพัฒนาวัฒนธรรมจีนให้มีความรุ่งโรจน์มากยิ่งขึ้น  เราก็ต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางกับประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมอันยอดเยี่ยมของประเทศอื่นด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง 

นายหวัง อี้ ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเส้นทางสายไหมแห่งสภาสังคมศาสตร์มณฑลกันซู่กล่าวว่า  คำชี้แนะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เกี่ยวกับวัฒนธรรมตุนหวงศึกษาทำให้เราตระหนักดีว่า ต้องพยายามศึกษาวิจัย และเชิดชูส่งเสริมวัฒนธรรมตุนหวง  รักษาวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของตนไว้ ในขณะเดียวกัน  ยังต้องเร่งศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรรมอันยอดเยี่ยมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนในยุคใหม่


(yim/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)