จัดตั้งคณะที่ปรึกษา หาผู้รู้มาแก้ปัญหาที่ไม่รู้- เส้นทางสีจิ้นผิง (12)

2022-11-09 08:46:49 | CMG
Share with:

การจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้รับการชื่นชมของสีจิ้นผิงในด้านการสรรหาบุคลากรคุณภาพ

ช่วงปีใหม่ของปี 1984 จดหมายที่ลงชื่อว่า "ลูกศิษย์สีจิ้นผิง " ถูกส่งถึงมือผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงกว่า 100 คนทั่วประเทศ ข้อความในจดหมายระบุว่า

“เราเป็นระดับรากหญ้า ขาดแคลนบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้าหลัง วิสัยทัศน์แคบ ความรู้ตื้นเขิน ท่านคงจินตนาการได้ว่าการเริ่มต้นดำเนินการใดๆ มีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ตัวผมเองก็ยังขาดความรู้ความสามารถและขาดประสบการณ์ ทำงานไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ หลังจากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ผมจึงใคร่ขอความช่วยเหลือมายังท่าน---(ชื่อบุคคล) โดยขอเรียนเชิญท่านมาเป็นที่ปรึกษาให้กับอำเภอของเรา ผมเชื่อว่าท่านคงไม่ปฏิเสธความจริงใจของคณะกรรมการพรรคฯ รัฐบาล ตลอดจนประชาชนจำนวน 4.5 แสนคนของอำเภอเจิ้งติ้งอย่างแน่นอน”

จากจดหมายฉบับนั้นมีผู้เชี่ยวชาญชื่อดังระดับชาติและระดับสากลจากแวดวงต่างๆ กว่า 50 คนตอบรับคำเชิญด้วยความยินดีและกลายเป็นสมาชิกรุ่นแรกของคณะที่ปรึกษา เช่น ฮว่าหลัวเกิง นักคณิตศาสตร์ , ยี๋ว์กวงหยวน นักเศรษฐศาสตร์, ตู้จื่อตวน ประธานสมาคมอาหารจีน , จางเสี่ยวโหลว จักษุแพทย์ ,โจเหรินจุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีศาสตร์และเคมีภัณฑ์, หวังเจี้ยน ผู้เชี่ยวชาญเกษตรศาสตร์ , หยางเลี่ย วิศวกรกรมโบราณวัตถุแห่งชาติ ตลอดจน เถียนซินฝู นายกสมาคมวิจิตรศิลป์ และ เหยา ซานปี้  รองนายกสมาคมนักเขียนของมณฑลเหอเป่ย เป็นต้น

ในช่วงเวลาเพียงครึ่งปีนับจากวันก่อตั้งคณะที่ปรึกษา มีสมาชิกกว่า 20 คนได้เดินทางไปที่เจิ้งติ้ง พวกเขาทำกิจกรรมบรรยายให้ความรู้อย่างกว้างขวาง เผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ช่วยตอบคำถามและไขข้อสงสัย รวมถึงดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ไขอุปสรรคสำคัญทางด้านเทคโนโลยี

ในช่วงนั้น "เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญ ข้อมูลคือแรงบันดาลใจ" การทุ่มเทปฏิรูปและกระตุ้นเศรษฐกิจกลายเป็นทิศทางการพัฒนาของภูมิภาคต่างๆ อำเภอเจิ้งติ้งยังได้จัดงานต่างๆ เช่น การประชุมเพื่อพิจารณาแผนระยะ 10 ปี โดยเชิญสมาชิกคณะที่ปรึกษาไปดำเนินการสำรวจก่อนช่วยให้ข้อเสนอแนะการกำหนดแผนการพัฒนาอำเภอเจิ้งติ้ง

เดือนเมษายนปี 1984 ด้วยการเสนอของยี๋ว์กวงหยวน สถาบันวิจัยชนบทแห่งแรกของจีนได้ก่อตั้งขึ้นในอำเภอเจิ้งติ้ง นักวิจัยดำเนินการแลกเปลี่ยนและศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ดำเนินการทดลองเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น ระบบจัดสรรรายได้ ระบบที่ดิน การเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน ฯลฯ การทดลองบางอย่างลงลึกถึงการคัดเลือกพืชเศรษฐกิจ การเพาะขยายพันธุ์พืชใหม่ การเผยแพร่เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ การสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐานในชนบท ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เป็นต้น ถือเป็นการเปิด "พื้นที่ทดลอง" เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมท่ามกลางการพัฒนาชนบทและเกษตรกรรม

จาง เสี่ยวโหลว หนึ่งในสมาชิกคณะที่ปรึกษากลับมายังบ้านเกิดหลังห่างหายไปนานกว่า 40 ปี โดยนายสี จิ้นผิง  ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำอำเภอเจิ้งติ้ง ได้มาต้อนรับด้วยตัวเอง และเมื่อรู้ว่าจาง เสี่ยวโหลว สุขภาพไม่ดีก็ยังได้กำชับอีกหลายครั้งให้ท่านดูแลสุขภาพอย่าทำงานหนักจนเกินไป

ซึ่งจางเสี่ยวโหลว จักษุแพทย์ผู้นี้นอกจากจะเดินทางไปบรรยายเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแล้ว เขายังได้ไปเจิ้งติ้งอีกหลายครั้งเพื่อตรวจสุขภาพตาให้กับประชาชนชาวเจิ้งติ้งมากกว่า 30,000 คนที่มีอาการต้อกระจก เปลือกตาอักเสบ และโรคอื่นๆ ทำให้เจิ้งติ้งกลายเป็น 1 ใน 7 อำเภอทั่วประเทศที่มีความก้าวหน้าในการป้องกันตาบอด

นอกจากจางเสี่ยวโหลวแล้ว เมื่อสมาชิกคณะที่ปรึกษาคนอื่นไปที่เจิ้งติ้ง นายสีจิ้นผิงก็จะไปเยี่ยมเยียนและขอคำแนะนำด้วยตัวเอง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำมากมายต่างพากันอุทิศภูมิปัญญาและความสามารถให้กับอำเภอนี้ภายใต้การขับเคลื่อนของสี จิ้นผิง ในยุคนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากในทั่วประเทศ ในช่วงเวลานั้นการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของบรรดาสมาชิกคณะที่ปรึกษาอำเภอเจิ้งติ้งจึงได้รับการจับตามองในฐานะเป็นพื้นที่ที่มี “บุคคลผู้มีชื่อเสียง”


BO/LU 

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (24-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (24-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (24-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (23-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (23-04-2567)