‘สี จิ้นผิง’ แจงความทันสมัยแบบจีนสู่สากล

2022-11-25 12:47:36 | CMG
Share with:

"การที่ประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนของจีนบรรลุความทันสมัยนั้นจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การพัฒนาแห่งมนุษยชาติ"

วันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2022 นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวสุนทรพจน์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจของเอเปคที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยได้อธิบายอย่างลึกซึ้งถึงสาระสำคัญของความทันสมัยแบบจีน

"ความทันสมัยแบบจีน" ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศในทันทีตั้งแต่ถูกเสนอขึ้น จากการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 ไปจนถึงงานฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 และโอกาสสำคัญต่างๆอีกมากมาย นายสีจิ้นผิงต่างก็เคยอรรถาธิบายเรื่องนี้ ได้เติมเต็มและพัฒนาความหมายของ"ความทันสมัยแบบจีน"อย่างต่อเนื่อง คำปราศรัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เขากล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจของเอเปคเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้นยิ่งได้ให้รายละเอียดเชิงลึกในประเด็นที่ประชาคมระหว่างประเทศต่างก็ให้ความสนใจ

ประชากรจำนวนมากเป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของความทันสมัยแบบจีน

จนถึงทุกวันนี้ ทั่วโลกมีไม่เกิน 30 ประเทศที่ได้บรรลุความทันสมัยทางอุตสาหกรรม โดยมีประชากรรวมไม่เกิน 1 พันล้านคน จีนมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน ซึ่งเกินจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน การเข้าสู่สังคมทันสมัยโดยรวมของจีนเป็นเรื่องยากและซับซ้อนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งยังจะเปลี่ยนแผนที่โลกแห่งความทันสมัยอย่างลึกซึ้งอีกด้วย

สีจิ้นผิงระบุในสุนทรพจน์ของเขาว่า "กล่าวโดยสรุปแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนให้ดียิ่งขึ้นนั้นจะต้องปลุกระดมพละกำลังของประชาชนกว่า 1.4 พันล้านคน"

จีนยืนหยัดการถือประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยตลอด ใช้ประโยชน์ความได้เปรียบของระบบสังคมนิยมอย่างเต็มที่ กระตุ้นประชาชนกว่า 1.4 พันล้านคนให้ร่วมกันฟันฝ่าต่อสู้และก้าวหน้าไปสู่ความทันสมัยด้วยมาตรการต่างๆ เช่น เพิ่มรายได้ของประชาชนผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายการจ้างงาน ส่งเสริมการสร้างความมั่งคั่งผ่านการขยันทำงานและการสร้างนวัตกรรม สร้างเงื่อนไขสำหรับประชาชนทุกคนและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นในการยกระดับการศึกษาและเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมความเป็นธรรมและความยุติธรรมทางสังคมผ่านการทำให้ช่องทางแห่งการเจริญเติบโตของประชาชนมีความคล่องตัวเพื่อนำมาซึ่งสภาพแวดล้อมแห่งการพัฒนาที่ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นต้น

ความมั่งคั่งร่วมกันของประชาชนทั้งมวลถือเป็นหลักการและความต้องการที่สมเหตุสมผลของความทันสมัยแบบจีน

"ยืนหยัดการบูรณาการระหว่างตลาดกับรัฐบาล ระหว่างประสิทธิภาพกับความยุติธรรม แบ่งเค้กอย่างเหมาะสมพร้อมไปกับการทำเค้กให้ใหญ่ขึ้น สร้างโครงสร้างแบ่งปันผลิตผลในรูปคล้ายมะกอก"... ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ สีจิ้นผิงได้ประกาศความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ของจีนในการทุ่มเทเพิ่มรายได้ของประชาชนและตอบสนองความปรารถนาในชีวิตอันดีงามของประชาชน

ในสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิงมีหนึ่งตัวเลขได้ดึงดูดความสนใจของผู้คนทั้งหลาย - "ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางเกิน 800 ล้านคนในอีก 15 ปีข้างหน้า"

จีนกำลังสร้างโครงสร้างใหม่แห่งการพัฒนาที่ถือการหมุนเวียนขนาดใหญ่ภายในประเทศเป็นหลัก และการหมุนเวียนภายในประเทศกับการหมุนเวียนระหว่างประเทศส่งเสริมซึ่งกันและกัน ขับเคลื่อนความทันสมัยแบบจีนด้วยการพัฒนาคุณภาพสูง ในอีก 15 ปีข้างหน้าจีนจะมีกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมากกว่า 800 ล้านคน ตลาดที่ใหญ่โตเป็นพิเศษซึ่งเกิดจากอำนาจการบริโภคที่แข็งแกร่งนั้นจะมีขนาดที่มิอาจประเมินได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งแรงผลักดันที่แข็งแกร่งแก่การหมุนเวียนภายในประเทศและวางรากฐานที่มั่นคงแก่การบรรลุความทันสมัยแบบจีนเท่านั้น หากยังจะมอบโอกาสอันยิ่งใหญ่ของจีนแก่การพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกอีกด้วย

ในกระบวนการขับเคลื่อนความทันสมัยแบบจีนนั้น จำเป็นต้องบรรลุความมั่งคั่งทั้งชีวิตทางวัตถุและชีวิตทางจิตวิญญาณของประชาชน

"เมื่อมีอาคารสูงอยู่ทั่วไปในแผ่นดินจีน อาคารสูงแห่งจิตวิญญาณประชาชาติจีนก็ควรตั้งตระหง่านด้วย" ในสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิง เขาได้อรรถาธิบายอย่างมีชีวิตชีวาว่าความทันสมัยแบบจีนเป็นความทันสมัยที่อารยธรรมทางวัตถุกับอารยธรรมทางจิตวิญญาณสอดประสานกัน และได้พรรณนาให้ทั่วโลกเห็นถึงภาพอนาคตอันสวยสดงดงามที่"ทุกครอบครัวมีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเพียงพอ" และ "ทุกคนรู้มารยาท เกียรติยศและความอับอาย"

ความทันสมัยแบบจีนเป็น “ความมั่งคั่งคู่” ทั้งวัตถุและจิตวิญญาณ ยิ่งเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

"เรายึดมั่นในแนวคิดน้ำใสภูเขาเขียวคือภูเขาเงินภูเขาทอง ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่รูปแบบสีเขียวอย่างรอบด้าน พยายามสร้างสรรค์ประเทศจีนอันสวยงามให้มีท้องฟ้าสีคราม ผืนดินสีเขียว และน้ำใส" ในสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิง เขาได้ประกาศต่อทั่วโลกว่าจีนมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ที่จะเดินบนหนทางแห่งการพัฒนาอารยธรรมที่การผลิตได้รับการพัฒนา มีชีวิตที่มั่งคั่งและมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชาติจีน

แต่ไหนแต่ไรมาจีนได้ปฏิบัติอย่างจริงจังตามภาระหน้าที่ของตนในฐานะประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบมาโดยตลอด เช่น มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสรุปผล มีผลใช้บังคับ และดำเนินการตาม "ข้อตกลงปารีส"  ,สนับสนุนวาระพหุภาคี เช่น “สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “กรอบสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาอันหนักแน่นที่จะ "พยายามทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุดภายในปี 2030 และปล่อยคาร์บอนเป็นกลางก่อนปี 2060 ”อย่างแน่วแน่ ฯลฯ

ดังที่สีจิ้นผิงได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ของเขาว่า "นี่คือความรับผิดชอบต่อทั้งเราเองและทั่วโลก"

ความทันสมัยแบบจีนเป็นความทันสมัยที่เดินบนหนทางแห่งการพัฒนาอย่างสันติ

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเน้นย้ำอีกครั้งในคำปราศรัยของเขาว่า "เรายืนอยู่ข้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องอย่างแน่วแน่ เชิดชูธงแห่งสันติภาพ การพัฒนา ความร่วมมือ และได้ชัยชนะร่วมกัน มุ่งมั่นแสวงหาการพัฒนาของตนเองท่ามกลางการพิทักษ์รักษาสันติภาพและการพัฒนาของโลก ในขณะเดียวกัน ดำเนินการพิทักษ์รักษาสันติภาพและการพัฒนาของโลกให้ดียิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาของตนเองด้วย"

ทั้งนี้เป็นเพราะได้พิจารณาจากผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นความใฝ่ฝันร่วมกันของประชาชนทุกประเทศด้วย

การที่ประเทศใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์อารยธรรมยาวนานกว่า 5,000 ปีก้าวไปสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็วนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องราวการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้นที่สุดและเป็นมหากาพย์แห่งอารยธรรมที่สะดุดตาที่สุดบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ กล่าวสำหรับโลกแล้ว การที่ประเทศใหญ่ ซึ่งมีประชากรเกือบ 20% ของทั่วโลกบรรลุความทันสมัยนั้น ไม่เพียงแต่จะผลักดันกระบวนการสร้างความทันสมัยของโลกอย่างแข็งแกร่งเท่านั้น หากยังจะอุทิศภูมิปัญญาและแนวทางของจีนให้กับภารกิจสันติภาพและการพัฒนาแห่งมนุษยชาติอีกด้วย


YIM/LU

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)