รายงานฉบับล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การขอจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านการประดิษฐ์ของจีนติดอันดับแรกของโลกในปี 2021 และแซงหน้าประเทศอื่นๆ อย่างมาก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแรงผลักดันที่แข็งแกร่งของจีนในการสร้างประเทศที่มุ่งเน้นนวัตกรรม
ตามรายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPI) ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของจีนได้รับการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร 1.59 ล้านรายการจากทั้งหมด 3.4 ล้านรายการทั่วโลกในปี 2021
ตามข้อมูลของรายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาโลกที่ได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดจาก 150 ประเทศและภูมิภาค คำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นในจีนมีจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนรวมของคำขอรับสิทธิบัตรใน 12 ประเทศที่จัดอยู่ในอันดับที่ 2 ถึง 13
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในปี 2021 ประชากรทุก 10,000 คน ในจีนมีจำนวนสิทธิบัตรด้านการประดิษฐ์ที่มีมูลค่าสูง 7.5 รายการ เพิ่มขึ้น 1.2 รายการเมื่อเทียบกับปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมด้านโทรคมนาคมรุ่นใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลควอนตัมหรือ Quantum Computing และพลังงานสะอาดมีจำนวนมากเป็นพิเศษ
รายงานที่เผยแพร่โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีนแสดงให้เห็นว่า การขอจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยี 6G ของจีนคิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของโลก นอกจากนี้ ตามข้อมูลของศูนย์การพัฒนาอุตสาหกรรมสารสนเทศของจีนที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ การขอจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีนคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของโลก
ผลการจัดอันดับการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเทคโนโลยีการประมวลผลควอนตัมในทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ด้านการประมวลผลควอนตัมของบริษัทจีน เพิ่มขึ้นจาก 137 รายการในเดือนกันยายนปี 2020 มาเป็น 804 รายการในเดือนตุลาคมปี 2022
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เผยแพร่รายงานเรื่อง “การติดตามนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด: โฟกัสที่ประเทศจีน” โดยระบุว่า จีนได้กลายเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านพลังงานภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์ทางพลังงาน เช่นเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีแสงสว่าง นักประดิษฐ์จีนมีส่วนร่วมในกิจกรรมระดับโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ช่วงปี 2018-2019 นักประดิษฐ์จีนได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระหว่างประเทศด้านแบตเตอรี่และเซลล์แสงอาทิตย์คิดเป็นประมาณ 6 เท่า ของช่วงปี 2008-2009
นอกจากนี้สิทธิบัตรของจีนด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีประมาณร้อยละ 80 ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพเทคโนโลยีในด้านนี้ที่ดีขึ้น รายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาโลกยังแสดงให้เห็นว่าในปี 2021 สิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ของจีนเติบโตขึ้นเร็วที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 17.6 เปอร์เซ็นต์ แซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตด้านสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้สูงที่สุดในโลก
ตามข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน จนถึงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ของจีนมีจำนวนกว่า 4 ล้านรายการ ในจำนวนนี้มีมากกว่า 1 ใน 3 มาจากอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ ตามข้อมูลของสหพันธ์อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมแห่งประเทศจีนที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ดังกล่าว ส่วนที่เป็นของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2022 สิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ของบริษัทเอกชน 500 อันดับแรกของจีนเติบโตร้อยละ 53.6
การออกแบบด้านอุตสาหกรรมของจีนก็เติบโตขึ้นอย่างมากในปี 2021 สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีนได้รับการยื่นขอจดทะเบียนการออกแบบอุตสาหกรรม 805,710 รายการ คิดเป็นกว่าร้อยละ 53 ของทั่วโลก ปัจจุบันจีนได้กลายเป็นเจ้าของการจดทะเบียนการออกแบบอุตสาหกรรมที่มีผลบังคับใช้มากที่สุดในโลก
(bo/cai)