เดือนนี้ กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย 3 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำของเอเชียตะวันออก G20 และเอเปคด้วยความสำเร็จตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการจัดการและอิทธิพลของ 3 ประเทศดังกล่าว อีกทั้งได้แสดงให้เห็นถึง “ความเป็นศูนย์กลาง (Asean Centrality) ” ของอาเซียนด้วย
ปีนี้ครบรอบ 55 ปีการจัดตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน “ความเป็นศูนย์กลาง” เป็นหลักการพื้นฐานของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค ปีหลัง ๆ มานี้ อาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเทศขนาดกลางและเล็กนับวันแสดงบทบาทสำคัญ ตลอดจนทดแทนไม่ได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียแปซิฟิก ตลอดจนทั่วโลก
ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ต่อจากนั้น อาเซียนยังได้จัดการประชุมเพื่อความร่วมมือของเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน(10+1) ครั้งที่ 25 การประชุมผู้นำอาเซียน-จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้(10+3) ครั้งที่ 25 และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ 17 ตามลำดับด้วย
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา กัมพูชาในฐานะประธานหมุนเวียนประจำปี 2022 ของอาเซียนชูประเด็นประชาคมอาเซียนที่เท่าเทียมกัน เข้มแข็ง และครอบคลุม ส่งเสริมจิตวิญญาณอาเซียน ใช้วิถีอาเซียนสร้างสรรค์ “ความเป็นศูนย์กลาง” ของอาเซียน โดยเสริมสร้างความสามัคคีภายในอาเซียน ดำเนินการไกล่เกลี่ยอย่างแข็งขันเพื่อแก้ปัญหาเมียนมา และวิกฤตยูเครน ไม่เลือกข้างในการประลองระหว่างมหาประเทศ อีกทั้งขับเคลื่อนให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) มีผลบังคับใช้ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประจำปีนี้ บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเห็นชอบทางหลักการในการรับรองติมอร์ตะวันออกเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียน ถือว่าอาเซียนได้ก้าวคืบหน้าไปอีกก้าวหนึ่งในกระบวนการขยายตัว นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ลงนามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)กับ เดนมาร์ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยูเครน รวม 7 ประเทศด้วยกันในปีนี้ ปัจจุบัน ภาคีสนธิสัญญา TAC เพิ่มขึ้นเป็น 50 ประเทศแล้ว
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก(EAS)เป็นการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นพร้อมกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยมีประธานหมุนเวียนของอาเซียนเป็นเจ้าภาพ ประเทศสมาชิกของการประชุม EAS มีจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และอินเดีย เป้าหมายของการประชุม EAS คือ ผลักดันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเอเชียตะวันออก เพื่อจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกขึ้น ตั้งแต่เปิดการประชุม EAS เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 เป็นต้นมา อาเซียนได้แสดงบทบาทชี้นำในความร่วมมือของเอเชียตะวันออกมาโดยตลอด
เนื่องจากความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศมุ่งที่จะขยายอิทธิพลและออกเสียงในภูมิภาคนี้ให้มากยิ่งขึ้น ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประจำปีนี้ นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระบุว่า บรรดาสมาชิกอาเซียนจะไม่เลือกข้าง โดยมุ่งที่จะพัฒนาแวดวงหุ้นส่วนแบบทับซ้อนกับฝ่ายต่าง ๆ
ด้านนายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามและสิงคโปร์ก่อนไปเข้าร่วมการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เขาเป็นผู้นำเยอรมนีคนแรกที่เยือนเวียดนามในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เขาได้เจรจากับนายกรัฐมนตรีเวียดนามเกี่ยวกับความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างทั้งสองประเทศ และระบุว่า รัฐบาลเยอรมันจะให้การสนับสนุนมากยิ่งขึ้นต่อการบริหารเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคของเวียดนาม ในช่วงที่เยือนสิงคโปร์ นายกฯโอลาฟ ชอลซ์ ระบุว่า เยอรมนีจะส่งเสริมความร่วมมือกับบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะทำการค้าให้มากยิ่งขึ้นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย นอกจากนี้ เขายังระบุว่า สหภาพยุโรปก็ควรขยายความร่วมมือกับอาเซียนด้วย
ประเทศอินโดนีเซียเป็นสมาชิกอาเซียนหนึ่งเดียวที่เป็นประเทศสมาชิกของกลุ่ม G20 ในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานหมุนเวียนของกลุ่ม G20 ประจำปี 2022 อินโดนีเซียได้ดำเนินการทูตแบบครบวงจร เพื่อขจัดความขัดแย้งและคลี่คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศ หลังจากรัสเซียกับยูเครนปะทะกันเป็นต้นมา อินโดนีเซียใช้ท่าทีความเป็นกลาง โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียได้เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟและกรุงมอสโคตามลำดับ เพื่อพูดคุยกับผู้นำทั้งยูเครนและรัสเซีย และเร่งให้ทั้งสองประเทศจัดการเจรจาสันติภาพ ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียได้ปฏิเสธความเรียกร้องของบางประเทศตะวันตกที่จะบีบรัสเซียออกจากกลุ่ม G20 อีกทั้งให้ประเทศตะวันตกเหล่านี้ได้รับฟังการบรรยายของนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ด้วย นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังถือโอกาสการเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 สร้างโอกาสให้นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนและนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้หารือกันบนเกาะบาหลี ของอินโดนีเซียด้วย
อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีผู้นำหลายประเทศได้เปิดตัวในที่ประชุม G20 เป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงปธน.ยุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ นายกฯฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น นายกฯโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี และนายกฯริชี ซูนัค ของอังกฤษ
การประชุม G20 ประจำปีนี้ ชูประเด็น “ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ได้บรรลุปฏิญญาบาหลี และได้ระดมเงินก่อตั้งกองทุนป้องกันโควิด 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งสัญญาว่า จะประสานงานมากยิ่งขึ้นเพื่อกระตุ้นให้โลกฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ครอบคลุมและยืดหยุ่น โดยจะสร้างตำแหน่งงานให้มากยิ่งขึ้นและให้มีการเติบโตที่ยั่งยืน
ฝ่ายต่าง ๆ พากันชื่นชมว่า ด้วยความพยายามของอินโดนีเซียประเทศเจ้าภาพของการประชุม G20 ทำให้การประชุมปีนี้กลายเป็นเวทีที่สามารถควบคุมข้อพิพาทได้ และก็สามารถขยายความร่วมมือระหว่างประเทศได้ด้วย อีกทั้งคาดหวังว่า อินโดนีเซียจะแสดงบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานหมุนเวียนของอาเซียนในปี 2023
เป็นที่ทราบกันดีว่า การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เป็นการประชุมระดับโลก ซึ่งมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ในโลกอย่างอเนกประสงค์
ส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปคจะเป็นการประชุมระดับภูมิภาค โดยเกาะติดเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในบรรดา 21 สมาชิกของเอเปคมี 7 สมาชิกมาจากอาเซียน อาเซียนจึงมีบทบาทสำคัญในเอเปค ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ได้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย นี่เป็นครั้งแรกที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแบบพบหน้ากันในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเด็นของการประชุมครั้งนี้คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยในฐานะประธานหมุนเวียนของเอเปคประจำปี 2022 มุ่งส่งเสริมการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากปฏิบัติตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาคที่อาเซียนริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังส่งเสริมให้เอเปคเปิดกว้าง มีความยืดหยุ่น สร้างความสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของทุกเขตเศรษฐกิจ โดยขับเคลื่อนให้การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคปีนี้ผ่านเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (เศรษฐกิจ BCG) ด้วย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเชิญประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีซาอุดิอาระเบียร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติพิเศษ นับเป็นครั้งแรกที่ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ที่ผู้นำราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
แคนาดาเป็นสถานที่ชุมนุมสำคัญของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โพ้นทะเล นายกรัฐมนตรีแคนาดาถือโอกาสเข้าร่วมการประชุมเอเปคในปีนี้ ได้เยือนประเทศไทยด้วย นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำแคนาดาเยือนประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นายกฯทั้งไทยและแคนาดาได้หารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีฉันทามติที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับแคนาดาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
พร้อมกับการปิดฉากลงของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก G20 และเอเปค กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทยก็ได้หมดวาระประธานหมุนเวียนประจำปี 2022 ของอาเซียน G20 และเอเปคตามลำดับ ความพยายามของทั้ง 3 ประเทศเพื่อยกระดับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนนั้น ได้สร้างความประทับใจแก่ชาวโลกและจะบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
(YIM/ZHOU)