เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ครั้งที่ 25 จัดขึ้นที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวได้แสดงให้ถึงเจตจำนงและความมุ่งมั่นร่วมกันของจีนและสมาชิกอาเซียนที่จะทำให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ รวมถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนการหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ (COC) ในทะเลจีนใต้ และความมั่นใจในการบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) ที่มีมาเป็นเวลา 20 ปี
เป็นเวลานานแล้วที่บางประเทศนอกภูมิภาคนี้จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความตึงเครียด และยุยงให้เกิดการเผชิญหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯพยายามป่าวร้องสิ่งที่เรียกว่า ภัยคุกคามต่อ "เสรีภาพในการเดินเรือ" ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นการปั้นน้ำเป็นตัวล้วน ๆ แต่ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบัน มีเรือพาณิชย์ประมาณ 100,000 ลำเดินทางในเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งนี้ทุกปี แต่ไม่เคยมีเรือลำใดแจ้งว่า ถูกคุกคามความปลอดภัยในทะเลจีนใต้
ในความเป็นจริง คำว่าภัยคุกคามต่อ "เสรีภาพในการเดินเรือ" ที่สหรัฐฯกล่าวอ้างนั้นใช้ในการอธิบายถึงการมีอยู่ทางการทหารของสหรัฐฯที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกน่าจะดีกว่า ภายใต้ข้ออ้าง “เสรีภาพในการเดินเรือ” สหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินมายังน่านน้ำในภูมิภาคนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า และทำการซ้อมรบบ่อยในภูมิภาคนี้ การอวดกำลังทหารอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ ได้ทวีความตึงเครียด และบั่นทอน สันติภาพ เสถียรภาพในเอเชียแปซิฟิก
อำนาจอธิปไตย และสิทธิประโยชน์ของจีนในทะเลจีนใต้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อันยาวนาน พร้อมทั้งมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และกฎหมายรองรับมากมาย จีนสนับสนุนการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และช่องทางเดินเรือที่ไม่ถูกกีดขวางในทะเลจีนใต้ เนื่องจาก "เสรีภาพในการเดินเรือ" ในทะเลจีนใต้สอดคล้องกับประโยชน์ของทุกฝ่าย รวมถึงจีนด้วย ในฐานะผู้ค้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก จีนมีสินค้า 60 เปอร์เซ็นต์ที่ส่งออกผ่านทะเลจีนใต้ ท่าเรือ 10 อันดับที่ขนส่งสินค้ามากสุดในโลก มี 7 แห่งที่ตั้งอยู่ในจีน บริษัทเดินเรือต่างประเทศขนส่งสินค้าจำนวนมากจากท่าเรือในจีนดังกล่าวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกผ่านเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ หาก "เสรีภาพในการเดินเรือ" ตกอยู่ในสภาพอันตราย จีนจะตกเป็นเหยื่อในอันดับต้น ๆ
อันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนมีความมั่นคง แข็งแกร่งและมีแนวโน้มการพัฒนาที่ดี ประเทศในอาเซียนเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ไว้ใจได้ และเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาร่วมกันมาช้านานของจีน จีนได้ให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติต่ออาเซียนในฐานะที่มีความสำคัญทางการทูตรอบข้างสูงสุด จีนเป็นประเทศแรกที่สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน เป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกที่เริ่มการเจรจาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีกับอาเซียนด้วย จีนและอาเซียนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันในปี 2020 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 นี้ อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน โดยปริมาณการค้ากับจีนคิดเป็นร้อยละ 15.2 ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน
จีนและอาเซียนยังได้ลงนามและดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อร่วมกันสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยกระดับการพัฒนาไปสู่ระดับใหม่
ผู้นำจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนเห็นพ้องต้องกันในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนครั้งที่ 25 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า จะส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคต่อไป และร่วมกันประกาศเปิดตัวการเจรจาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการยกระดับเขตการค้าเสรีรอบใหม่
โดยสรุปแล้ว จีนและประเทศอาเซียนต่างมีศักยภาพแก้ไขความเห็นต่าง และกุมกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ไว้ในมือของตนเอง การสร้างทะเลจีนใต้ให้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือนั้นเป็นเป้าหมายและความมุ่งมั่นร่วมกันของจีนและอาเซียน ทางเลือกที่ถูกต้องของประเทศนอกภูมิภาคคือ หยุดการแทรกแซงกิจการในทะเลจีนใต้
(ying/cai)