บทวิเคราะห์ : จีนชี้สิ่งที่นักการเมืองสหรัฐฯ กังวลคือรัสเซียจะไม่รบกับยูเครน

2022-02-14 11:13:17 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

บทวิเคราะห์ : จีนชี้สิ่งที่นักการเมืองสหรัฐฯ กังวลคือรัสเซียจะไม่รบกับยูเครน

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ย้ำอีกครั้งในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายวลาดิมีร์ ปูตินประธานาธิบดีของรัสเซียว่า หากรัสเซีย “รุกราน” ยูเครน สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจะให้รัสเซียชดใช้ด้วยต้นทุนที่สูงมาก    ด้านประธานาธิบดีปูตินโต้กลับว่า รัสเซียไม่เข้าใจว่าเหตุใดสหรัฐฯ จึงจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่อสื่อมวลชนว่ารัสเซียวางแผนที่จะ “บุกเข้า” ยูเครน    

ในวันเดียวกันนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่าตอนนี้ไม่มีสงครามเต็มรูปแบบในยูเครน       เขายังขอให้ประเทศที่กล่าวหาว่ารัสเซียจะบุกเข้ายูเครนต้องแสดงหลักฐานที่ชัดเจน

ในด้านนักวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่เห็นว่า ความเสี่ยงของสงครามที่เกิดจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนนั้นมีไม่มาก เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบดีว่า สงครามจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้   แต่สหรัฐฯในฐานะประเทศนอกภูมิภาคกลับพยายามสร้างบรรยากาศอันตึงเครียดว่าสงครามสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ที่จริงแล้ว นักการเมืองสหรัฐฯ บางคนกังวลอย่างมากว่า รัสเซียและยูเครนจะไม่รบกัน เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังมีดังต่อไปนี้

ประการแรก สหรัฐฯ พยายามสร้างความตึงเครียดเชิงยุทธศาสตร์ระดับหนึ่งในยุโรป โดยใช้วิธีการเพิ่ม “ภัยคุกคาม” จากรัสเซีย เพื่อทำให้ประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันออกและอดีตสาธารณรัฐสหภาพโซเวียดต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น   เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สหรัฐฯ ก็จะสามารถเป็นผู้กำหนดทิศทางของสถานการณ์ความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรป และลดความพยายามของยุโรปในการแสวงหาความเป็นอิสระด้านความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์  

ประการที่สอง การหาประโยชน์จากการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้า รวมถึงวิกฤตสงครามนั้นเป็นกลอุบายที่สหรัฐฯ ใช้บ่อย สื่อรายงานว่า หลังจากวิกฤตในยูเครนถูกยกระดับให้สูงขึ้น สหรัฐฯ นอกจากได้ส่งอาวุธจำนวนมากไปยังยูเครนแล้ว  ยังอนุมัติให้กลุ่มประเทศบอลติกโอนถ่ายขีปนาวุธ และอาวุธอื่นๆ ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ไปยังยูเครน   ซึ่งเบื้องหลังก็คือผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมการทหารของสหรัฐฯ  

นักวิเคราะห์หลายคนยังชี้ให้เห็นว่า เมื่อเร็วๆ นี้  สหรัฐฯ ขู่ว่าจะระงับการเปิดโครงการนอร์ด สตรีม 2 โครงการท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปตะวันตก เพื่อบีบบังคับให้ประเทศในยุโรปเลิกพึ่งพารัสเซียด้านพลังงาน และสร้างเงื่อนไขสำหรับสหรัฐฯ ในการขยายการส่งออกพลังงานไปยังยุโรป

ต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนรอบนี้คือ หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง นาโต้ยังคงพยายามหาทางขยายอิทธิพลไปยังภาคตะวันออกและทำให้ช่องว่างความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียแคบลงเรื่อยๆ    ดังนั้นรัสเซียจึงออกมาตอกย้ำว่า นาโตต้องให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่า จะไม่ขยายอิทธิพลไปยังพื้นที่ภาคตะวันออก และไม่จัดตั้งอาวุธที่เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียในยูเครนอีก นี่ถือเป็นการกำหนดเส้นสีแดงที่ชัดเจนสำหรับความมั่นคงทางทหารระหว่างทั้งสองฝ่าย

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวของรัสเซียถือว่าสมเหตุสมผล    แม้สหรัฐฯ และนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ เข้าใจความกังวลของรัสเซียแต่กลับทำเป็นไม่รู้ และยังพยายามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รุนแรงขึ้น สาเหตุที่สหรัฐฯ ทำเช่นนี้ก็เพราะว่า อยากเป็นใหญ่ในโลก และยังคงยึดติดกับแนวคิดสงครามเย็น

อย่างไรก็ตาม กลอุบายของสหรัฐฯ ไม่สามารถหลอกลวงโลกได้    การเล่นเกมส์ที่บ้าคลั่งของสหรัฐฯ กลับทำให้ทั่วโลกเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า ความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากทั้งในประเทศและต่างประเทศ   และกำลังสร้างความวุ่นวายให้กับทั่วโลกด้วยสารพัดวิธีการ

(bo/cai)  

  • เสียงข่าวประจำวัน (03-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (03-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (03-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)

蔡建新