เป็นอีกความหวังของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและข้าวเจ้า ผลผลิตที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมานานนับหมื่นปี ที่กำลังจะมีเทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น
เมื่อไม่นานนี้ วารสาร “ไซเอินซ์” (Science) ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จีนและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวจง ค้นพบยีนที่สำคัญตัวหนึ่งในข้าวโพดและข้าวเจ้า
โดยคาดว่าเมื่อผ่านการตัดแต่งและปรับปรุงแล้ว อาจช่วยให้ข้าวโพดและข้าวเจ้ามีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และ 8% ตามลำดับ
ศาสตราจารย์เหยียน เจิ้ยนปิน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวจง กล่าวว่า นักวิจัยได้ค้นพบยีน KRN2 จากข้าวโพดในธรรมชาติ เมื่อนำยีนตัวนี้มาตัดแต่งแล้ว
ก็จะทำให้ฝักข้าวโพดมีแถวเมล็ดข้าวโพดเพิ่มขึ้น 2 แถวเท่ากับว่า ต้นข้าวโพดหนึ่งฝักจะมีเมล็ดข้าวโพดเพิ่มขึ้น 40 เม็ด
หากในพื้นที่หนึ่ง “หมู่” หรือประมาณ 0.067 เฮกตาร์ หรือ 670 ตารางเมตร สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 400 กิโลกรัมแล้ว เมื่อปรับปรุงพันธุกรรม ก็จะเพิ่มผลผลิตขึ้นอีก 40 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พบโฮโมโลกัสยีน หรือยีนที่เหมือนกันและอยู่ด้วยกัน ชื่อว่า OsKRN2 จากจีโนมของข้าวอีกด้วย
ขณะนี้ ทีมวิจัยกำลังขยายขอบเขตการศึกษาทดลองกันอยู่ โดยทดลองนำยีนตัวดังกล่าวไปอยู่ในสภาพแวดล้อมการเพาะปลูกอื่น ๆเพื่อเร่งการนำยีนตัวนี้ไปใช้ให้หลากหลายยิ่งขึ้น
ถ้ามาดูผลผลิตการเกษตรนี้ อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน หากย้อนไปเมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อน มนุษย์เริ่มมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว โดย ข้าวโพด ข้าวเจ้าและข้าวสาลี เป็นพืชที่มนุษย์ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ให้พลังงานมากกว่า 50% แก่มนุษยชาติทั่วโลก