“อนาคตของรถไฟไทย-จีน”

2023-01-18 13:20:31 | CMG
Share with:

รถไฟเป็นพาหนะขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง   ทุกประเทศมีประวัติที่แสดงถึงความพยายามในการพัฒนากิจการรถไฟให้เกิดขึ้นในประเทศ  จากรถไฟตู้สั้นๆ ใช้ฟืนหรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง  ค่อย ๆ พัฒนามาเป็นรถไฟดีเซล  เป็นรถไฟที่ส่งไฟฟ้าลงมาตามสาย  แล้วก็มาถึงรถไฟ MagLev ซึ่งใช้แรงเหนี่ยวนำของแม่เหล็กไฟฟ้า  ทำให้รถไฟวิ่งลอยตัวได้โดยไม่มีแรงเสียดทาน  ทำความเร็วได้ถึงชม.ละ 500 กม. ประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่  ประชากรเยอะ รถไฟก็ยิ่งสำคัญ  เพราะรถไฟช่วยให้การคมนาคมไปได้ทั่วถึง ประหยัดเงินและประหยัดเวลา  เพราะสถานีรถไฟทุกแห่งมักอยู่ในเขตเมือง  ใครอยู่ใกล้ที่ไหนก็ไปขึ้นลงที่นั่น    

เรื่องรถไฟไทยเราก็ไม่น้อยหน้าใคร  ไทยมีรถไฟสายแรกเมื่อราว 120 ปีก่อน แต่น่าเสียดายที่ รฟท.พัฒนาช้ามาก  คนไทยมักล้อเลียนความเอื่อยเฉื่อยของ รฟท.ว่าวิ่งเหมือนเสียงพูดว่า “ถึงก็ช่าง..ไม่ถึงก็ช่าง” สาเหตุที่รฟท.ไม่พัฒนาอาจพิจารณาได้ 2 ทาง  ทางเทคนิค รฟท.เป็นรถรางเดี่ยว  ระหว่างทางต้องเสียเวลารอสับหลีกกับรถขบวนที่วิ่งสวนมาแต่ละเที่ยวหลาย ๆ ครั้ง ๆ   อีกด้านหนึ่งขนาดรางของ รฟท.แคบกว่ามาตรฐาน  จะเลียนแบบเทคโนโลยีของใครก็ยาก  แต่อุปสรรคที่สำคัญยิ่งกว่าคือปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารงาน  รฟท.บริหารงานขาดทุนมาตลอด  ปัจจุบันสะสมยอดขาดทุนไปถึงเกือบ 90,000 ล้านบาท !!   

มาดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนบ้าง  จีนเป็นประเทศที่เหมาะอย่างยิ่งในการพัฒนาการคมนาคมทางราง   เพราะพื้นที่กว้างใหญ่  ประชากรมากมายมหาศาล  แรกสุดชาติตะวันตกเป็นคนนำรถไฟเข้าไปในจีนก่อน  แต่ไม่สนใจพัฒนาเพราะไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนจีน   เมื่อจีนปลดปล่อยตัวเองได้ในปี 1949 จึงเริ่มฟื้นฟูบูรณะเส้นทางเก่าที่มีอยู่  แล้วค่อย ๆ พัฒนาเส้นทางสายใหม่ ๆ ขึ้นหลังเปิดประเทศแล้ว  กล่าวกันว่าในปี 1978 เติ้งเสี่ยวผิงไปนั่งรถไฟ Shinkansen ที่ญี่ปุ่นแล้วเกิดติดใจจึงนำความคิดนี้ไปใช้ในจีนทันที  เริ่มแรกได้รับความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นและแคนาดา  (ต่อมาเยอรมันเป็นผู้ช่วยเหลือเมื่อจีนเริ่มสร้างรถไฟระบบ MagLev)  ตั้งแต่นั้นมารถไฟจีนก็เพิ่มอัตราการวิ่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ  มาตรฐานขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 160 กม/ชม. 

“เส้นทางสายไหมทางบกยุคใหม่” (New Silk Road) คือแรงบันดาลใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้จีนมุ่งมั่นในการขยายเส้นทางรถไฟให้ไกลออกไปเรื่อย ๆ  เป้าหมายของจีนคือทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนภาคพื้นทวีปสามารถเชื่อมต่อกับจีนได้โดยทางรถไฟ   ปัจจุบันจีนมีขบวนรถบรรทุกสินค้าวิ่งจากปักกิ่งออกนอกประเทศทางฝั่งตะวันตกรวม 3 สาย  สายหนึ่งวิ่งตรงเข้าสู่ยุโรปไปสุดทางที่เยอรมันระยะทาง 10,000 กม. เริ่มวิ่งตั้งแต่ปี 2012  ระหว่างทางที่อยู่ในเขตจีนมีสถานีแวะรับสินค้าและลงสินค้า 35 สถานี  ส่วนในเขตยุโรปมี 34 สถานี  เส้นทางนี้ช่วยย่นเวลาให้จีนและคู่ค้าฝั่งยุโรปได้ 20 วันเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ  

ส่วนภายในประเทศ  ปัจจุบันจีนมีรถไฟสายหลัก 8 เส้น 4 เส้นวิ่งขนานกันจากตะวันออกไปตะวันตก และอีก 4 เส้นวิ่งขนานจากเหนือลงใต้ ปี 2030 มีแผนจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 16 เส้น  การเพิ่มรถไฟสายหลักให้วิ่งตัดกันเหมือนตารางหมากรุกหนาแน่นขนาดนี้  เพราะจีนตั้งใจว่าจะทำให้เมืองชั้นในระดับรองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไปสามารถเข้าถึงรถไฟได้เหมือนคนอื่น

ประเทศไทยก็อยู่บนแผนที่ “เส้นทางสายไหมทางบก” ของจีนเหมือนกัน  แต่เป็นเส้นทางลงใต้ เส้นทางจะเริ่มจากจีน- ลาว-เวียดนาม-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์  ด้วยเหตุนี้จีนจีงพยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางร่วมมือกับไทยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ  แต่เพราะความไร้ประสิทธิภาพไร้กฎกติกาของการเมืองไทย  ทำให้การเจรจาผ่านไปหลายครั้งแล้วแต่ไม่บังเกิดผล  เช่นปี 2010  จีนได้เซ็น MOU กับนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกับลาว  คุยกันไม่ทันข้ามปี  รัฐสภาไทยก็ถูกยุบ  3 ปีต่อมา ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็หยิบโครงการนี้ขึ้นมาปัดฝุ่น  ผ่านไปปีเดียวทหารก็เอาปืนจี้ให้นายกฯลงจากเก้าอี้เสียดื้อ ๆ   

  มาถึงวันนี้ถ้าถามว่าโครงการรถไฟไทย-จีนจากกรุงเทพฯไปลาว  ซึ่งตกลงกันไปแล้วว่าฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองแต่ใช้เทคโนโลยีของจีน  รัฐบาลไทยกระเป๋าแห้งจะให้เอกชนประมูลแยกกันไปสร้างเป็นช่วง ๆ แล้วมาเชื่อมต่อกันทีหลัง...  โครงการนี้อนาคตของมันจะไปดีหรือ “ดับ”อีก ?

 เรื่องนี้คงหาคนตอบชัด ๆ ไม่ได้.. เพราะเดาไม่ออกว่าการเมืองไทยจะเล่นกันเละเทะไร้กติกาไปถึงไหน  การดึงเส้นดึงสายแบ่งปันผลประโยชน์กันในสังคมไทยจะหนักหน่วงมากขึ้นแค่ไหน  อย่างน้อยผลประโยชน์ริมทางรถไฟครั้งนี้ก็คงต้องสู้กันหนักเป็นแน่..  ผู้เขียนเองไม่อยากคิดเรื่องไกล ๆ ให้ปวดหัว  ขอลุ้นแค่โครงการระยะสั้นช่วงแรก “กรุงเทพฯ-โคราช”  ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า   ลุ้นดูว่ามันจะออกหัวหรือออกก้อยน่าจะเดาได้ง่ายกว่า !! 

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (14-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (13-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (13-11-2567)