ความรู้เกี่ยวกับการดื่มชา

2023-02-01 15:56:55 | CRI
Share with:

การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมที่มีมาช้านานอย่างหนึ่งของจีน  ซึ่งมีประวัติอันยาวนาน  เป็นยาอายุวัฒนะและดีต่อสุขภาพด้วย   แต่แม้ว่ามีผลดีหลายอย่าง  ก็ใช่ว่าจะดื่มชาได้ทุกชนิดและดื่มได้ตลอดเวลา  ดื่มชาแบบไหนจะเหมาะสมกับสุขภาพที่สุด

ประเทศจีนมีอากาศเปลี่ยนแปลงตาม 4 ฤดูกาล  ก็จะมีชาที่เหมาะจะดื่มได้ดีต่อสุขภาพแตกต่างกันไปตามฤดูกาล  ในฤดูใบไม้ผลิควรดื่มชาอบดอกไม้  ในฤดูร้อนควรดื่มชาเขียว  ฤดูใบไม้ร่วงควรดื่มชาอูหลง  ฤดูหนาวควรดื่มชาแดง

ฤดูใบไม้ผลิของจีน  ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังผลิบาน  ลมฤดูใบไม้ผลิได้นำชีวิตชีวามาแก่ทุกสรรพสิ่ง   แต่ด้วยอากาศยังเย็นอยู่อาจจะทำให้ไม่สบาย อ่อนเพลียเล็กน้อยซึ่งเป็นอาการปกติพบได้ทั่วไปในฤดูใบไม้ผลิ  การดื่มชาอบดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิจะสามารถช่วยผ่อนคลายความรู้สึกอ่อนเพลียในฤดูใบไม้ผลิเนื่องจากการเปลี่ยนฤดูได้  เพราะว่าชาอบดอกไม้สามารถช่วยถ่ายเทความหนาวออกจากร่างกายไปได้   ช่วยให้มีความสดชื่น  แก้ความรู้สึกเพลียๆ ในฤดูใบไม้ผลิได้ดี

สำหรับชาอบดอกไม้เป็นใบชาตากแห้งที่นำไปอบกับดอกไม้ จึงมีคุณลักษณะพิเศษที่ดึงดูดกลิ่นหอมของดอกไม้   ซึ่งชาอบดอกไม้มะลิเป็นที่นิยมที่สุด   เพราะว่าดอกมะลิกลิ่นหอมชื่น  แต่ก็ไม่แรงมาก

และการดื่มชาอบดอกไม้ต้องเลือกถ้วยที่มีฝา  เมื่อชงน้ำเข้าไปแล้วปิดฝาไว้สักพักหนึ่ง  จะสามารถเก็บกลิ่นหอมดอกไม้ได้ดี  แล้วความร้อนของน้ำควรจะอยู่ที่ประมาณ 90 องศา  หลังจากรินน้ำร้อนเข้าไปแล้ว  ปิดฝาไว้  2-3 นาที  จะได้ชาอบดอกไม้ที่กลิ่นหอมชื่นใจและรสชาติชุ่มคอ แต่สำหรับในฤดูร้อน ชาที่เหมาะจะเป็นแบบไหน

เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน  อากาศที่ร้อนจัด  มักจะทำให้เหงื่อออกมาก ขาดแคลนน้ำในร่ายกาย  ฉะนั้น  การดื่มชาเขียวในฤดูนี้จะมีส่วนช่วยทดแทนน้ำในร่างกาย  ชาเขียวเป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก  มีคุณลักษณะที่เย็น และมีรสขมช่วยแก้ร้อนใน ย่อยอาหาร แก้กระหาย รักษาแผลในช่องปาก และโรคกระเพาะที่อาการไม่รุนแรง นอกจากนี้  ยังมีบทบาทในการลดไขมันในเลือด  และป้องกันโรคหัวใจ 

ชาเขียวชงแล้วจะมีสีใส  มักจะใช้แก้วที่ไม่มีฝา  ความร้อนของน้ำที่จะชงชาเขียวนั้นไม่ควรร้อนเกินไป  ราว 80 องศาจะดีที่สุด  เพราะส่วนใหญ่เป็นใบชาอ่อนที่พึ่งเก็บในช่วงเทศกาลเช็งเม้งจึงไม่ควรใช้น้ำที่ร้อนเกินไป เพราะหากร้อนเกินไป   จะทำให้ใบชาเสียรสชาติ   และถ้าเป็นแก้วมีฝา  จะไม่ดีต่อการระบายความร้อน  เมื่อปิดฝา  จะทำให้ใบชาแช่จนเสีย  ทั้งไม่สวยและไม่อร่อยด้วย

เป็นเคล็ดลับของการดื่มชาที่เหมาะสมที่สุด และถ้าชาในฤดูใบไม้ร่วงจากอากาศร้อนเริ่มเย็นเล็กน้อยจะเป็นชาแบบใด

ในฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้เริ่มร่วงโรย อากาศเริ่มแห้ง    ง่ายที่จะทำให้ปากแห้ง  และริมฝีปากแตก  ในเวลานี้เหมาะที่จะดื่มชาอูหลง  ชาอูหลงเป็นชาที่ผ่านการหมักครึ่งหนึ่ง อยู่ระหว่างชาเขียวซึ่งเป็นชาไม่ผ่านการหมักและชาแดงซึ่งเป็นชาที่ต้องหมัก  นอกจากนี้กลิ่นสดชื่นเหมือนชาเขียว  และก็มีรสข้นเหมือนชาแดง    มีสรรพคุณที่บำรุงผิวหนัง  แก้กระหาย  ขจัดความร้อนในร่างกาย  ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

การชงชาอูหลงมักจะใช้กาน้ำชาเซรามิค  ถ้าเป็นกาน้ำชาเซรามิคที่เพิ่งซื้อมา  เติมน้ำใส่เข้าหม้อ  และต้มด้วยชากำหนึ่งเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง  จะสามารถขจัดสารเจือปนของกาได้ 

สำหรับการชงชาอูหลงมักจะใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 100 องศา  เพราะความร้อนจะทำให้ชาอูหลงมีสีเข้มข้น  และทำให้กลิ่นหอมใบชาเต็มที่ แต่อากาศหลังจากนี้จะหนาวขึ้น ร่างกายจะเริ่มปรับตัวอย่างไร และต้องดื่มชาอะไร

ฤดูหนาวในจีน  อากาศหนาวมาก  แพยทย์แผนจีนโบราณเห็นว่า  เมื่อถึงฤดูหนาว  ทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้าสู่โหมดเก็บสะสมพลังงาน  ร่างกายของมนุษย์ก็จะปรับตัวลดการเผาผลาญที่ไม่จำเป็นเช่นกัน    สิ่งที่ควรทำในฤดูหนาวก็คือป้องกันความหนาวเก็บความอุ่น  ฉะนั้นการดื่มชาแดงจะเป็นการดีที่สุดในฤดูหนาว  ชาแดงเป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมัก  มีโปรตีนและน้ำตาลสูง  นอกจากช่วยป้องกันความหนาวแล้ว  หากยังมีส่วนช่วยย่อยอาหาร  และแก้เลี่ยนด้วย   ซึ่งเหมาะที่จะดื่มในฤดูหนาว

การชงชาแดงมักจะใช้แก้วกระเบื้องเคลือบ และความร้อนของน้ำร้อนที่ใช้ในการชงชาแดงจะอยู่ประมาณ 95 องศา   เมื่อเทน้ำเข้าไป  ใบชามักจะลอยเหนือผิวน้ำก่อน  แล้วค่อยหล่นลงไปกองก้นแก้ว ใบชาจะแผ่ออก

แม้ว่าใบชาจะมีประประโยชน์ต่อร่างกาย  แต่การดื่มชาก็มี 5 อย่างต้องระมัดระวัง  หนึ่งก็คือ  ไม่ควรดื่มชาที่เข้มข้นมากเกิน   เพราะมีสารกระตุ้นทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวเกินไป  จะมีผลต่อระบบบหัวใจและระบบประสาท  โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วเกินไปหลังจากดื่มชาที่เข้มข้นแล้ว

ไม่ควรดื่มชาก่อนเข้านอนมีหลายคนดื่มชาก่อนเข้านอนเพราะจะทำให้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาหลับยากอยู่แล้วนั้นยิ่งต้องหลีกเลี่ยงการดื่มชาก่อนเข้านอน

นอกจากนี้  ขณะรับประทานอาหารก็ไม่ควรดื่มชาให้มาก  แต่การดื่มชาก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มชานิดหน่อยระหว่างการรับประทานอาหารไม่มีผลกระทบอะไรนัก  แต่ถ้าดื่มชาจำนวนมากหรือดื่มชาเข้มข้นเกินไประหว่างการรับประทานอาหาร  จะส่งผลกระทบต่อการดูดซึมธาตุแคลเซียม  ธาตุเหล็กและธาตุสังกะสี 

ที่สำคัญไม่ควรดื่มชาหลังดื่มเหล้า    เพราะว่าตอนที่ดื่มเหล้า    แอลกอฮอล์จะเข้าโลหิตผ่านกระเพาะแล้วกลายเป็นกรดแอซิติกผ่านตับ  กรดแอซิติกจะแยกเป็นน้ำกับคาร์บอนไดออกไซด์   หากดื่มเหล้าแล้วดื่มชาพร้อมกันอีก  ฤทธิ์ด่างในใบชาที่มีหน้าที่ช่วยขับปัสสาวะ  ทำให้แอลกอฮอล์เข้าสู่ไตเร็วเกินไปไตจะทำงานหนัก ดังนั้นดื่มเหล้าพร้อมดื่มชาต่อมีความเสี่ยงเป็นโรคไต   นอกจากนี้  แอลกอฮอล์จะมีบทบาทกระตุ้นต่อการไหลเวียนโลหิตและชาก็มีบทบาทกระตุ้นการทำงานของหัวใจเช่นกัน  ถ้าสองอย่างนี้ดื่มพร้อมกันจะกระตุ้นให้หัวใจต้องทำงานหนักมากเกินไป 

สิ่งที่ต้องระวังอย่างหนึ่งก็คือ  ไม่ควรดื่มใบชาใหม่มาก  เพราะเมื่อพิจารณาจากโภชนาการ  ใบชาใหม่ไปไม่ได้ดีต่อร่างกาย  เพราะว่าใบชาใหม่ก็คือใบชาที่เก็บมาไม่ถึง 1 เดือน  ใบชาแบบนี้ยังไม่ได้ผ่านการพักไว้เป็นเวลานาน  มีสารที่ส่งผลต่อร่างกาย  ถ้าดื่มใบชาใหม่เป็นเวลายาวนานอาจท้องเสีย

ประการสุดท้ายคือ  ไม่ควรดื่มชากับนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม  เพราะด่างในใบชากับสารแทนนิน เมื่อรวมเข้ากับสารแคลเซียมของผลิตภัณฑ์นมจะกลายเป็นเกลือแคลเซียมที่จะถูกขับออกจากร่างกาย  ทำให้ไม่ได้รับคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์นมนั่นเอง

ทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นความรู้เกี่ยวกับการดื่มชา  หวังว่าจะมีส่วนช่วยในการดื่มชาของท่านผู้ฟังที่ชอบดื่มชา เข้าใจการดื่มชาที่เหมาะสมต่อร่างกาย และกลไกของชาที่มีทั้งผลดีหากดื่มเป็น  แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดื่มอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการดื่มชานั่นเอง

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)