เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมค้าทองคำโลกออกรายงาน โดยระบุว่า ปี 2022 ความต้องการทองคำของโลกเพิ่มมากกว่าปี 2021 ถึง 18% คิดเป็น 4,741 ตัน สร้างสถิติความต้องการทองคำประจำปีสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ปี 2022 ปริมาณการสั่งซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้สร้างสถิติสูงสุดในช่วง 55 ปีที่ผ่านมา
รายงานว่าด้วยแนวโน้มความต้องการทองคำของโลกจากสมาคมค้าทองคำโลกยังระบุด้วยว่า ปี 2022 ความต้องการทองคำของธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีถึง 1,136 ตัน ซึ่งเพิ่มมากกว่า 450 ตันของปี 2021 กว่า 2 เท่า สร้างสถิติสูงสุดในช่วง 55 ปีที่ผ่านมา เฉพาะไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ได้สั่งซื้อทองคำรวม 417 ตัน
ต่อการนี้ มีนักวิเคราะห์ระบุว่า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อ และนโยบายเงินตราของประเทศต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ความต้องการทองคำในปี 2022 เติบโตขึ้น ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งนักลงทุนจากองค์กรต่าง ๆ กว้านซื้อทองคำเพื่อสำรองทรัพย์สินให้มีความหลากหลายและรับมือความเสี่ยงด้านการลงทุน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทดั้งเดิมของทองคําในการรักษามูลค่าและการกระจายความเสี่ยง
จากสถิติพบว่า ปี 2022 ความต้องการทองแท่งและเหรียญทองของโลกคิดเป็น 1,217 ตัน ซึ่งเพิ่มมากกว่าปี 2021 ประมาณ 2% นอกจากนี้ ราคาทองคำในปี 2022 ได้เคยพุ่งถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็น 2,070 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ได้ขึ้นดอกเบี้ย ราคาทองคำได้ตกต่ำถึง 1,615 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ทว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาทองคำเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว โดยราคาทองคำในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิดเป็น 1,915 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
นักวิเคราะห์การตลาดจากสมาคมค้าทองคำโลกระบุว่า ปี 2023 เศรษฐกิจโลกมีความเป็นไปได้ที่จะถดถอยลงอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อด้านต่าง ๆ ของการลงทุนทองคำ อย่างไรก็ตาม ทองคำได้แสดงบทบาทที่ดีในช่วงที่เศรษฐกิจโลกวุ่นวาย จึงมีคุณค่าในการถือครองเป็นทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว
(YIM/ZHOU)