บทวิเคราะห์ : ประเทศที่เข้าร่วม “1 แถบ 1 เส้นทาง”เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2023-02-06 11:26:27 | CMG
Share with:

ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีการเสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน

เมื่อต้นปี 2023 จีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ร่วมกับเติร์กเมนิสถาน และลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”กับฟิลิปปินส์ ทั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  ข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้ตอบสนองความต้องการการพัฒนาของโลก  และสอดคล้องกับความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศ  จึงมีความเข้มแข็งและความมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ   

ความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ยังสอดคล้องกับแนวโน้มประวัติศาสตร์ของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่ให้ปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลโลก และความปรารถนาของประชาชนทุกประเทศที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้เป็นสาเหตุขั้นพื้นฐานที่ทำให้ข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”มีความเข้มแข็งและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ   จนถึงขณะนี้ จีนได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มากกว่า 200 ฉบับกับ 151 ประเทศและ 32 องค์กรระหว่างประเทศ

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่โดยธนาคารโลก เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี  2023 ลงเหลือ 1.7% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว   ในขณะที่โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับอุปสรรค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะซบเซา การเข้าร่วม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้แสดงบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก  

รายงานการวิจัยที่เผยแพร่โดยธนาคารโลกในปี 2019 แสดงให้เห็นว่าหากมีการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งภายใต้กรอบ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”อย่างเต็มที่ ภายในปี2030จะสร้างรายได้มูลค่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 1.3 %ของจีดีพี ทั่วโลก ในอนาคต    จะมีประเทศจำนวนมากขึ้นเข้าร่วมความร่วมมือที่มีคุณภาพสูงภายใต้กรอบ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”  นี่เป็นแนวโน้มที่จะต้องเกิดขึ้นในโลก 

ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เสนอโดยจีน แต่สร้างโอกาสและผลประโยชน์ให้กับทั่วโลก     ความคิดริเริ่มนี้ได้จัดเตรียมแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าระหว่างปี 2013 ถึง 2021 การค้าสินค้าระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ตาม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”มีมูลค่าประมาณ 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การลงทุนระหว่างกันมีมูลค่ามากกว่า 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความคิดริเริ่มนี้ยังได้ส่งเสริมการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานและมีส่วนสนับสนุนใหม่ ๆ ต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในประเทศต่างๆทั่วโลก  

นอกจากนี้  ความร่วมมือ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ที่มีคุณภาพสูงสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ความร่วมมือดังกล่าวได้ครอบคลุมโอกาสการพัฒนาดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และอัจฉริยะ สร้างพลังขับเคลื่อนการเติบโตใหม่     และสำรวจเส้นทางการพัฒนาใหม่ ตลอดจนสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลและเส้นทางสายไหมแห่งนวัตกรรม   ถือเป็นการอัดฉีดพลังใหม่ให้กับเส้นทางสายไหมโบราณ   

นายมาร์ติน อัลโบร  นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงจากงานเขียนของเขาเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ชี้ให้เห็นว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้เชื่อมโยงการพัฒนาอย่างสันติของจีนกับความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกของชาวโลก  

ในฐานะเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะสำคัญที่จีนได้มอบให้กับทั่วโลกเพื่อช่วยปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก  ความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูงได้อาศัยประสบการณ์ที่มีอยู่ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการปฏิบัติ  เน้นการแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง และส่งเสริมการปฏิรูประเบียบและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่มีอยู่อย่างค่อยเป็นค่อยไป   

ปัจจุบัน ข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และหลักการที่ให้ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมสร้าง และร่วมรับประโยชน์จากความร่วมมือนั้นได้บันทึกไว้ในเอกสารที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ กลุ่มประเทศ G20  องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และองค์การอื่น ๆ ซึ่งกลายเป็น ฉันทามติที่สำคัญในธรรมาภิบาลโลก   

การจัดตั้งสถาบันการพัฒนาและเวทีความร่วมมือพหุภาคี เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม จะมีส่วนช่วยต่อการสร้างระบบธรรมาภิบาลโลกที่มีความเที่ยงธรรมและสมเหตุสมผลมากขึ้น  

จากพิมพ์เขียวที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลไปจนถึงการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มข้น   ความร่วมมือ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้เริ่มต้นจากการหยั่งรากลึกไปจนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศที่มีส่วนร่วมใน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”  มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”  มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีอนาคตแห่งการพัฒนาที่กว้างไกลยิ่งขึ้น  

 จีนจะพิจารณาจัดการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”  ครั้งที่ 3 ในปีนี้ เพื่ออัดฉีดแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของโลก  

จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ บนจุดเริ่มต้นใหม่ เพื่อส่งเสริมการร่วมสร้าง“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูง และให้ข้อริเริ่มนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วโลกมากขึ้นต่อไป  


(yin/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (14-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (13-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (13-11-2567)