บทวิเคราะห์ : เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่ควรแยกจากเศรษฐกิจจีน

2023-02-07 14:37:33 | CMG
Share with:

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา พยายามชะลอตัวจนกระทั่งหยุดกระบวนการพัฒนาของจีนด้วยนโยบายแยกเศรษฐกิจออกจากจีน(decoupling)  สหรัฐฯได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและได้ดำเนินนโยบายนี้จนถึงปัจจุบัน  สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแต่จำกัดการลงทุนจากบริษัทจีนในประเทศตนเท่านั้น  แต่ยังพยายามจำกัดการลงทุนของบริษัทสหรัฐอเมริกาในจีนด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง  นอกจากนี้  ยังกดขี่ข่มเหงบริษัทไฮเทคของจีนด้วยวิธีการทางการเมือง ใช้การควบคุมการส่งออกในทางที่ผิด ตลอดจนบีบบังคับและยุยงให้ประเทศอื่นๆ ร่วมกันกีดกันจีน การปฏิบัติเหล่านี้ได้บ่อนทำลายกฎการตลาด และระเบียบเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศอย่างหนัก อีกทั้งยังเป็นการคุกคามเสถียรภาพห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สหรัฐอเมริกา ควรตระหนักว่า การแยกเศรษฐกิจออกจากจีนนั้นเป็นไปได้ยาก   ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา เป็นความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีการทำงานร่วมกันเชิงโครงสร้าง และมีการหลอมรวมกันทางผลประโยชน์ในเชิงลึก   ในช่วงสองปีที่ผ่านมา  การค้าจีน-สหรัฐอเมริกาได้สร้างสถิติสูงสุด โดยสูงถึง 750,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 และเกือบ 760,000  ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่า 583,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 อย่างมาก   

จีนมีระบบสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน รวมถึงผู้มีรายได้ระดับปานกลางกว่า  400 ล้านคน และยังเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดมีศักยภาพสูงของโลก  มีแรงดึงดูดมหาศาล ทำให้นักธุรกิจทั่วโลกมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า การลงทุนในจีนจะมีอนาคตที่สดใส   

      

การที่สหรัฐอเมริกาพยายามจะย้ายห่วงโซ่อุตสาหกรรมออกจากจีนนั้นไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของบริษัทสหรัฐอเมริกา  รายงานสมุดปกขาวว่าด้วยบริษัทสหรัฐอเมริกาในจีนประจำปี 2022  ที่ออกโดยหอการค้าสหรัฐอเมริกาในจีน ระบุว่า จีนยังคงเป็นตลาดที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับบริษัทสหรัฐอเมริกา  โดยสมาชิกหอการค้าแห่งนี้ ไม่มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตหรือฐานการจัดซื้อออกจากประเทศจีน   

นักวิเคราะห์เห็นว่า  หากสหรัฐอเมริกาแยกเศรษฐกิจออกจากจีนจะต้องประสบความเสียหายมากกว่าสิ่งที่ได้รับ         ปิเนโลปี โกลด์เบิร์ก ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล กล่าวในบทความว่า  ดูเหมือนสหรัฐอเมริกา ลืมไปแล้วว่า เคยได้ประโยชน์มากเพียงใดจากการเปิดประเทศของจีนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เธอชี้ว่า  เป็นเรื่องผิดที่จะไปสันนิษฐานว่า การสร้างความเจริญรุ่งเรืองของโลกเป็นเกมที่ต้องมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ  เธอย้ำว่า  การเจริญเติบโตขึ้นของจีนไม่ได้หมายความว่า สหรัฐอเมริกาต้องเสื่อมถอยลง   

การทำสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกาจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอื่น และจะไม่เป็นประโยชน์ใดๆกับสหรัฐอเมริกาเองด้วย    ผลการวิจัยระบุว่า  ต้นทุนของสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาก่อขึ้นโดยลำพังฝ่ายเดียวนั้น ส่วนใหญ่ต้องให้บริษัทและผู้บริโภคชาวอเมริกันมาแบกรับภาระ   ตามรายงานที่ออกโดยหอการค้าสหรัฐอเมริกาในจีน การแยกเศรษฐกิจออกจากจีนจะคุกคามถึงผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ในด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก   นักลงทุนสหรัฐอเมริกาจะสูญเสียผลกำไรมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์จากการลงทุนต่อปี  ขณะที่จะสูญเสียจีดีพีมากถึง 500,000ล้านดอลลาร์ 

ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แม้จะทำให้ตนเองและประเทศพันธมิตรประสบความเสียหายมหาศาล แต่สหรัฐอเมริกายังคงยืนกรานจะใช้นโยบายดังกล่าว  การกระทำเช่นนี้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบทางเศรษฐกิจ  จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ถูกต้องและไม่ยั่งยืน   

       

ยุทธศาสตร์ที่จะแยกเศรษฐกิจออกจากจีนนั้น ไม่สามารถหยุดโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่จะสูญเสียโอกาสความร่วมมือกับจีน  จีนมีระบบอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด และตลาดภายในประเทศที่มีศักยภาพสูงของโลก สามารถรับมือกับการกีดกันและการกดขี่จากภายนอก  แผนแยกเศรษฐกิจออกจากจีนจะไม่สามารถขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูงของจีนอย่างแน่นอน   

การที่สหรัฐอเมริกากีดกันและกดขี่จีนนั้นยังจะส่งผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจโลกด้วย  เมื่อเร็วๆ นี้  เว็บไซต์ East Asia Forum ของออสเตรเลียกล่าวในบทวิเคราะห์ว่า  สหรัฐอเมริกากำลังใช้นโยบายกีดกันอุตสาหกรรมของประเทศอื่นอย่างอุอาจ    สหรัฐอเมริกา กำลังกลายเป็นผู้ทำลายระบบการค้าระหว่างประเทศ  

สรุปได้ว่า จีนและสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก  ควรกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องเคารพซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์แก่กัน  มุ่งเน้นไปที่ภาพรวมที่ดีของโลก  เพื่อรักษาบรรยากาศที่ดีและความสัมพันธ์ที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือระหว่างกัน   


(yin/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)