ชาวจีนนิยมใช้บริการ “ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้”

2023-02-07 10:07:40 | CMG
Share with:


เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลาสำคัญสมัยศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของนักศึกษาจีน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงช่วงเวลาที่เมื่อเลิกเรียนแล้ว มักจะไปทำการบ้านหรืออ่านหนังสือเองต่อในห้องอ่านหนังสือหรือหอสมุด ซึ่งสำหรับผู้ที่จบการศึกษาและทำงานแล้ว ยากจะมีห้องที่เงียบสงบห้องหนึ่ง เพื่อให้มีสมาธิในการอ่านหนังสือหรือศึกษาเองแบบนั้นอีก

เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มีความต้องการด้านดังกล่าว ปีหลังๆนี้ ในเมืองจำนวนหนึ่งจึงปรากฏ “ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้” ซึ่งคิดค่าบริการตามเวลาใช้งาน และได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

ในบริเวณเขตจงกวนชุนของกรุงปักกิ่ง มีห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้แห่งหนึ่ง ได้รับความชื่นชอบจากผู้คนจำนวนไม่น้อย ในห้องอ่านหนังสือดังกล่าว มีการตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆอย่างสมบูรณ์ โดยไม่เพียงแต่มีโต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟตั้งโต๊ะ และตู้เก็บของเท่านั้น ยังมีบริการWi-Fi เครื่องปรับอากาศ เครื่องพิมพ์ และน้ำอุ่นด้วย นับว่าสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการอย่างมาก

นางสาวหลี่ ผู้ใช้บริการคนหนึ่งบอกว่า เธอมีแผนจะไปศึกษาต่อนอกประเทศ ช่วงนี้กำลังเตรียมการสอบอยู่ ที่บ้านไม่มีบรรยากาศการศึกษา เธอกับเพื่อนๆที่เตรียมสอบปริญญาโทจึงชอบมาอ่านหนังสือในห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้แห่งนี้

นายหยูว์ ผู้ใช้บริการห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้อีกคนหนึ่งบอกเล่าว่า เขาจบการศึกษาและทำงานแล้ว แต่ยังต้องการหาความรู้เรื่อยๆ ไปนั่งร้านกาแฟหรือหอสมุด มักจะหาที่นั่งได้ยาก ส่วนห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้นี้ใช้บริการสะดวก สแกนคิวอาร์โค้ดแล้วก็ได้ที่นั่งทันที

ปัจจุบัน ผู้ใช้บริการห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้เช่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้จบการศึกษาแล้ว รวมถึงผู้มีแผนศึกษาต่อ เตรียมการสอบ และพนักงานที่ทำงานเพิ่มบ่อยครั้ง สถิติระบุว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศจีนมีธุรกิจเกี่ยวกับห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้กว่า 3,600 แห่ง ซึ่งไม่เพียงแต่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่และเมืองขนาดกลางเท่านั้น หากยังมีอยู่ในเมืองเล็กและอำเภอบางแห่งด้วย ซึ่งห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ในแต่ละพื้นที่จะเก็บค่าบริการไม่เท่ากันตามสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงในท้องถิ่น โดยเฉลี่ยแล้วจะคิดค่าบริการวันละ 10-100 หยวน

ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเห็นว่า ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้มีเวลาเปิดบริการยาวกว่าหอสมุด เงียบกว่าร้านกาแฟ และมีบรรยากาศการศึกษามากกว่าที่บ้านเอง ผู้ที่เคยทดลองใช้บริการนี้ส่วนใหญ่จึงมาแล้วมาอีก 

ผู้ใช้บริการห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอาชีพการงานแล้ว ผู้คนเหล่านี้ยังมีความต้องการหลากหลาย ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้จำนวนหนึ่งจึงมีการปรับปรุงบริการตามความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ใช้บริการ อย่างเช่น ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้อีกแห่งหนึ่งที่ย่านกั๋วเม่า กรุงปักกิ่ง มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการเป็นหลายประเภท เช่น โซนสุดเงียบ โซนคีย์บอร์ด โซนพักผ่อนและอ่านหนังสือ เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้แห่งนี้แนะนำว่า โซนสุดเงียบเป็นโซนสำหรับผู้ที่ต้องการบรรยากาศที่เงียบมากไม่มีเสียงรบกวนแม้แต่นิดเดียว ส่วนโซนคีย์บอร์ดเป็นโซนสำหรับผู้ที่ต้องการใช้คีย์บอร์ดและเม้าส์ ในอนาคต ยังมีแผนจะเพิ่มบริการอื่นๆอีกด้วย เช่น เพิ่มบริการกาแฟ และเครื่องดื่มอื่นๆ

ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้จำนวนหนึ่งยังมีการตั้งอุปกรณ์การพักผ่อนและการบันเทิง บางแห่งยังเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นออนไลน์จำนวนไม่น้อย เช่น ให้ลูกค้าคนใหม่ใช้บริการครั้งแรกโดยจ่ายเพียง 1 หยวน เป็นต้น เพื่อเรียกความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมากยิ่งขึ้น

นางเจ้า เมิ่งเสีย พนักงานธนาคารคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นิยมใช้บริการห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ เธอเล่าว่า แม้จบการศึกษามาหลายปีแล้ว แต่เธอยังไม่เลิกที่จะหาความรู้ใส่ตัวต่อไป โดยใช้เวลาหลังเลิกงานนั่นเอง ซึ่งเมื่อสองปีก่อน เธอสอบเรียนต่อปริญญาโท สาขาการบริหารจัดการทางวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงปักกิ่ง ได้เป็นผลสำเร็จ เธอบอกว่า ในช่วงที่เตรียมการสอบ เคยปวดหัวเพราะไม่มีสถานที่อ่านหนังสือได้อย่างมีสมาธิ จนกระทั่งเพื่อนแนะนำบริการห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้แห่งหนึ่งให้รู้จัก เธอรู้สึกประทับใจและชื่นชอบอย่างมาก

เจ้า เมิ่งเสียบอกเล่าว่า ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้เหมาะสมกับตัวเองเป็นพิเศษ และยังแนะนำให้เพื่อนคนอื่นไปทดลองด้วย เธอชอบบรรยากาศที่มีเพื่อนๆศึกษาและเตรียมการสอบพร้อมกัน เมื่อพบปัญหาความยากลำบาก สามารถจะถามตอบปรึกษาร่วมกันได้  ย่อมจะดีกว่าเรียนคนเดียวที่บ้านเอง ถึงปัจจุบัน เจ้าเมิ่งเสียยังนิยมไปอ่านหนังสือที่ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ทุกปลายสัปดาห์

ผู้ชอบห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ ไม่เพียงแต่มีคนหนุ่มสาวเท่านั้น นางซุน วัย 46 ปี เป็นคุณแม่ฟูลไทม์ งานของเธอก็คือดูแลลูกสาวที่บ้านทุกวัน แต่เธอยังชอบเข้าห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้โดยใช้ช่วงเวลาว่างจากการเลี้ยงลูก เธอบอกว่า ในห้องนี้ เธอสามารถอ่านหนังสือได้อย่างสงบ และมีช่วงเวลาคิดพิจารณาเรื่องต่างๆเป็นของตัวเองได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเธอ แม้ว่าอายุมากขึ้น ไม่ได้เป็นวัยรุ่นแล้ว แต่เมื่อมองเห็นหนุ่มสาวรอบข้างตั้งใจศึกษาความรู้กัน เธอก็รู้สึกได้รับกำลังเพิ่มขึ้นด้วย 

นางซุนบอกเล่าว่า เธอได้ศึกษาภาษาต่างประเทศอยู่ด้วยตนเอง โดยไม่ใช่เพื่อหางานหรือเตรียมการสอบ เพียงแต่รู้สึกว่า ขณะที่อายุมากขึ้น จิตใจก็ควรเติบโตขึ้นพร้อมกัน การศึกษาความรู้ต่างๆจะทำให้ชีวิตมีสีสันหลากหลายและมีการคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

วัยกลางคนที่ได้พลังจากห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้แบบนางซุนยังมีอีกจำนวนไม่น้อย นายต่ง รุ่ยหนิง ทำงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว เป็นผู้ใช้บริการห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้บ่อยครั้ง เขาเห็นว่า ไม่ว่าอายุเท่าใด ก็ต้องศึกษาตลอดชีวิต 

ต่ง รุ่ยหนิงบอกเล่าว่า เขาไปห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เขาพบว่า ผู้เข้าห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ส่วนใหญ่มีความขยันมาก โดยมักจะนั่งศึกษานานกว่าวันละ 10 ชั่วโมง เมื่ออยู่กับพวกเขา ก็เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองยังไม่แก่ ยังมีกำลังและจิตวิญญาณการต่อสู้ เพื่อแสวงความก้าวหน้าต่อไป

ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้เป็นหนึ่งในรูปแบบเศรษฐกิจแชร์ใช้ซึ่งกำลังเจริญขึ้นใหม่ ปีหลังๆนี้ ความต้องการด้านอุปกรณ์และบริการวัฒนธรรมของชาวจีนมีความหลากหลายมากขึ้น ห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้บริการสาธารณะเพิ่มเติมรูปแบบใหม่ พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ ยังมีการเกิดธุรกิจด้านอาหารและนวัตกรรมแบบใหม่ตามไปด้วย 

สถิติระบุว่า ปี 2020 ผู้ใช้บริการห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้ มีถึง 3,100,000 คน  ปี 2022 มีถึง 7,550,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในปีหลังๆนี้ ดังนั้น พร้อมไปกับเศรษฐกิจสังคมจีนฟื้นฟูภาวะปกติ คาดว่าในอนาคตห้องอ่านหนังสือแชร์ใช้จะต้อนรับผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง


Yim/Sun

  • เสียงข่าวประจำวัน (05-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (04-05-2567)

  • เกาะกระแสจีน (04-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (03-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (03-05-2567)