เทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคมไฟ เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของชาวจีน จัดขึ้นในวันเพ็ญแรกของปี หรือวันที่ 15 นับจากวันตรุษจีน ชาวจีนถือว่าเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีนที่จะได้พักผ่อนก่อนเริ่มต้นทำงานอย่างสดใสมีพลัง
ที่ศาลเจ้าโจวซือกง ในชุมชนตลาดน้อย มีการจัดงานเทศกาลหยวนเซียวเป็นประจำทุกปี เพราะนอกจากจะเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน ยังหมายถึงเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูก โดยเทศกาลหยวนเซียวที่นี่ มีพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่จัดสืบต่อกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปี คือการเซ่นไหว้เทพเจ้าด้วย “ขนมเต่า” ซึ่งน่าจะเป็นศาลเจ้าในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวที่มีพิธีกรรมนี้
ทำไมต้องเซ่นไหว้เทพเจ้าด้วย “ขนมเต่า”
เรื่องนี้ สืบพงศ์ ช้างบุญชู อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเรื่องขนมเต่ากับพิธีกรรมเซ่นไหว้ในชุมชนตลาดน้อย ให้ข้อมูลว่า ชาวจีนในชุมชนตลาดน้อยเป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี๊ยนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งชาวจีนมีความเชื่อเรื่อง “เต่า” ว่า เป็นสัญลักษณ์มงคล หมายถึง ความแข็งแกร่ง มีพลัง อายุยืน มีโชคลาภ
ในประเพณีและโอกาสพิเศษต่างๆ กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนยังมีการทำขนมรูปเต่า เช่น การมอบขนมเต่าให้ผู้สูงอายุในวันคล้ายวันเกิดเพื่อเป็นการรอวยพรให้อายุยืนนาน หรือขนมเต่ายังถูกใช้สำหรับเด็กชายชาวจีนที่อายุครบเดือน เพื่อเป็นสัญลักษณ์และอวยพรให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นขนมเต่าจึงเป็นเครื่องเซ่นไหว้สำคัญของชาวจีน โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน
ชาวจีนในชุมชนตลาดน้อยยังรักษาและสืบทอดประเพณีไหว้ขนมเต่าอย่างเหนียวแน่น ปีนี้ มีชาวชุมชนตลาดน้อยมาช่วยกันทำขนมเต่ากับทางศาลเจ้าโจวซือกง และยังมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และเวิร์คชอปการทำขนมเต่าและเขียนข้อความมงคลบนขนมเต่าด้วย
โดยเทศกาลหยวนเซียวของทุกปี ทางศาลเจ้าโจวซือกงจะจัดเตรียมขนมเต่าไว้สำหรับพิธีกรรมเซ่นไหว้ ขนมเต่าหรือที่ชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “หมี่กู๊” ทำจากแป้งสาลี ปั้นเป็นรูปเต่า นำเมล็ดถั่วดำมาติดเป็นลูกตา แล้วนำไปตามแดดให้แห้ง เพื่อให้เก็บได้นาน จากนั้นนำมาเขียนคำมงคลภาษาจีนที่กระดองเต่า โดยผู้เขียนคำมงคลหลายท่านคือผู้สูงอายุชาวชุมชนตลาดน้อย คำมงคลที่เขียนส่วนใหญ่จะเป็นคำมงคลเกี่ยวกับสุขภาพ ความรุ่งเรือง ความสำเร็จเรื่องการเรียน การงาน เป็นต้น
เทศกาลหยวนเซียว จึงเป็นโอกาสดีที่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนหลายคนจะได้มาขอพรหลวงปู่โจวซือกง และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ และร่วมพิธีเซ่นไหว้ด้วยขนมเต่า และนำขนมเต่ากลับไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย