นางเหลียน เฉิงชุน เป็นผู้เชี่ยวชาญบูรณะหนังสือโบราณของจีน เธอแนะนำว่า การชำรุดของหนังสือโบราณมีหลายอย่าง เช่น ถูกมอดกิน เน่า เปียกน้ำ สรุปแล้วคือการเก็บรักษาไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ขั้นตอนการบูรณะหนังสือโบราณรวมถึงแกะด้ายเย็บหนังสือออก จดเลขที่หน้าของหนังสือ และเลือกกระดาษที่ใช้ในการซ่อมแซมหนังสือ เป็นต้น เวลาปะรูของหนังสือต้องใช้แป้งเปียกที่ทำเอง ช่างบูรณะหนังสือโบราณที่มีประสบการณ์จะปรับความข้นแป้งเปียกตามความหนาของกระดาษ ต่อมาจะหยดเยื่อกระดาษลงในรู หลังการบูรณะต้องใช้ของหนักวางทับหนังสือเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน เพื่อประกันความราบเรียบของหน้าหนังสือ เครื่องมือที่ใช้ในการบูรณะหนังสือโบราณมีที่คีบ ที่หยด แปรง และที่ฉีดน้ำ นางเหลียน เฉิงชุนเปรียบเทียบว่า การบูรณะหนังสือโบราณเล่มหนึ่งเสมือนหมอทำการผ่าตัดครั้งหนึ่ง
หลักการบูรณะหนังสือโบราณคือ บูรณะเฉพาะที่ชำรุด แต่ไม่บูรณะตัวอักษร เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณายืนยันของเดิม อีกประการหนึ่งคือ การบูรณะยิ่งน้อยยิ่งดี และทำให้เหมือนสภาพเดิมที่สุด
นางเหลียง เฉิงชุน สำเร็จการศึกษาเอกการบูรณะหนังสือโบราณ เธอได้บูรณะหนังสือโบราณเล่มแรกที่มีจำนวนกว่า 20 หน้าเมื่อปี 2011 โดยใช้เวลากว่า 2 เดือน เธอระบุว่า การบูรณะหนังสือโบราณนอกจากต้องมีฝีมือแล้ว ยังต้องศึกษาเวอร์ชั่นหนังสือ ลักษณะของกระดาษชนิดต่าง ๆ อีกทั้งต้องเรียนรู้ภาษาจีนโบราณด้วย
นางเหลียง เฉิงชุน ได้เคยไปศึกษาเพิ่มเติมการบูรณะหนังสือโบราณที่หอสมุดแห่งชาติจีน ต่อมา เธอได้เปิดห้องทำงานบูรณะหนังสือโบราณของตน นอกจากหนังสือโบราณแล้ว เธอยังได้บูรณะโฉนด ลําดับวงศ์ตระกูล และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เก่าแก่โบราณด้วย อีกทั้งเปิดรับลูกศิษย์ด้วย
นอกจากนี้ เธอยังเปิดสอนบูรณะหนังสือโบราณผ่านออนไลน์ด้วย ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แฟนที่ติดตามชมดูคลิปเรื่องบูรณะหนังสือโบราณของนางเหลียน เฉิงชุนมีถึง 75,000 คน แวดวงบูรณะหนังสือโบราณจึงชื่นชมนางเหลียน เฉิงชุนว่า เธอประชาสัมพันธ์ให้วิชาการบูรณะหนังสือโบราณเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น
(YIM/ZHOU/HANCHU)