ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนนำร่องฟื้นฟูการท่องเที่ยวและบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ทั่วประเทศจีน ธุรกิจจัดการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์รวมถึงธุรกิจ “ตั๋วเครื่องบิน + โรงแรม” สำหรับชาวจีนไปยังประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยประเทศเป้าหมายปลายทางที่อยู่ในการนำร่องงวดแรกมี 20 ประเทศ ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เคนยา รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา เป็นต้น
ทำไมจึงเลือก 20 ประเทศดังกล่าว? นายจิน จุ่น เลขาธิการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวสภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีนวิเคราะห์ว่า การเลือก 20 ประเทศคำนึงถึงบทบาททั้งในแง่ของการผลักและการดึงของตลาด ดังนี้ ประการแรกคือแรงผลักดันภายในที่เข้มแข็งใน 20 ประเทศนี้ส่วนใหญ่เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวดั้งเดิมที่ได้รับความนิยม ตลาดมีความคึกคัก ง่ายที่จะกลายเป็นแรงผลักดันระลอกแรกหลังฟื้นฟูการท่องเที่ยวต่างประเทศแบบกรุ๊ปทัวร์ ประการที่สองคือแรงดึงภายนอกมหาศาล ซึ่งเลือกประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน ขั้นตอนการท่องเที่ยวง่าย สภาพการพัฒนาค่อนข้างปลอดภัย ห่วงโซ่ธุรกิจการท่องเที่ยวค่อนข้างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนสูงมาก
ในรายชื่อประเทศเป้าหมายที่นำร่องฟื้นฟูการท่องเที่ยวต่างประเทศแบบกรุ๊ปทัวร์ครั้งนี้ มี 7 ประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวจีนก่อนที่เกิดโรคโควิด-19 คราวนี้ ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นอย่างมาก
ซีทริปบริษัทจัดการท่องเที่ยวออนไลน์ของจีนประกาศรายงานสรุปการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2023 ว่า ในช่วงดังกล่าวมีการจองตั๋วเครื่องบินข้ามชาติเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยกรุงเทพฯ และภูเก็ตเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า เชียงใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ส่วนใน 1 สัปดาห์หลังเทศกาลตรุษจีน จำนวนการท่องเที่ยวต่างประเทศแบบกรุ๊ปทัวร์และจองแพ็กเกจ “ตั๋วเครื่องบิน + โรงแรม” เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีน
นายเฉิน หลี่หนาน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทซีทริปเผยว่า กรุ๊ปทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศกรุ๊ปแรกของบริษัทซีทริปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ประเทศเป้าหมายปลายทางก็คือประเทศไทย หากพิจารณาอายุของลูกทัวร์กรุ๊ปแรกส่วนใหญ่เป็นผู้เกิดหลังทศวรรษ 1980 และ 1990 ซึ่งพวกเขาบางคนพาลูก บางคนพาพ่อแม่ กลายเป็นผู้นำการท่องเที่ยวต่างประเทศ นายเฉิน หลี่หนาน เห็นว่า การฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าพิจารณาจากทั้งปี ในช่วงวันแรงงานและช่วงปิดเทอมฤดูร้อนปีนี้การท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะมีความคึกคักอย่างเห็นได้ชัด
การฟื้นฟูการท่องเที่ยวต่างประเทศแบบกรุ๊ปทัวร์ได้กระตุ้นการฟื้นตัวของกิจการการบิน คาดว่า จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์จะกลับมาเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศและเขตแคว้นถึง 60 เส้นทาง ให้บริการเที่ยวบินสัปดาห์ละ 410 เที่ยว โดยสายการบินและเที่ยวบินที่ได้รับการฟื้นฟูส่วนใหญ่อยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวันของจีน สายการบินไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ได้เปิดบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศและเขตแคว้นรวม 50 เส้นทาง สัปดาห์ละ 82 เที่ยว ส่วนสายการบินสปริงแอร์ไลน์ได้ฟื้นฟูเส้นทางการบินระหว่างประเทศและเขตแคว้น 24 เส้นทางในขณะนี้ โดยเป็นเส้นทางการบินในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16 เส้นทาง
ก่อนเกิดโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นหนึ่งในสามของยอดนักท่องเที่ยวที่ไปไทย เวลานี้ “นักท่องเที่ยวจีนกลับมาแล้ว” กลายเป็นหนึ่งในคำขวัญที่เร้าใจในธุรกิจการท่องเที่ยว
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 3.4 ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญจะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมการส่งออกไปสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว คาดว่าปีนี้ไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 22,500,000 คน โดยส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือนักท่องเที่ยวจีน ในขณะที่จีนผ่อนคลายนโยบายป้องกันโควิด-19 จะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวไทย คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,800,000 - 5,000,000 คน รายได้ธุรกิจการท่องเที่ยวไทยจะเพิ่ม 50,000 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของจีดีพี
กล่าวได้ว่า การที่จีนนำร่องฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยและประเทศอื่นแบบกรุ๊ปทัวร์เป็นงวดแรกสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับประเทศเหล่านี้อย่างแท้จริง ในขณะที่จีนเร่งการฟื้นฟูหลังโควิด-19 จะปลดปล่อยข้อได้เปรียบทางการตลาดที่มหาศาลนี้แก่ทั่วโลก และขยายความต้องการภายในให้มากขึ้น การไปมาหาสู่กันระหว่างบุคลากรจะคึกคักมากขึ้น ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมจะประสบผลสำเร็จมากมายยิ่งขึ้น
เขียนโดย ชุย อี๋เหมิง ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)
(Yin/Cui)