จับตานโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนจีน จากการประชุมสองสภา

2023-03-08 12:03:38 | CMG
Share with:

“การประชุมสองสภา” หรือ “เหลียงฮุ่ย” ของจีน คือการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) และสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน (CPPCC) ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้  ถูกจับต่อมองจากทั่วโลก  โดยเฉพาะการประกาศนโยบายสำคัญที่ทำให้เห็นถึงทิศทางการบริหารประเทศของรัฐบาลจีนต่อจากนี้ไป 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก และโลกจับตามอง เพราะการกำหนดทิศทางทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แนวทางในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีของจีน ล้วนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและส่งผลต่อการพัฒนาโลก  หลังจากนี้จึงหวังเห็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในอนาคต ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาเซียนและโลกต่อไป  ซึ่งที่ผ่านมาจีนและไทยมีความร่วมมือกันหลายด้านมาเป็นเวลานาน  เช่น ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังหวังเห็นความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนที่แนบแน่นยิ่งขึ้นในอีกหลายด้าน  จากที่ตอนนี้จีนมีโครงการข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ที่จะเชื่อมโยงจีนและอาเซียน  และ การเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0

นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง  ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว CCTV ของจีนว่า คาดหวังว่า  การประชุมสองสภานี้จีนจะมีการประกาศนโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ  การส่งเสริมการลงทุนในจีน  รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างไทย-จีนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เช่น ตอนนี้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์การขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว มีการขนส่งผัก ผลไม้ และสินค้าต่างๆ ไปยังมณฑลยูนนาน  นอกจากนี้  ยังมีความร่วมมือ RCEP ที่เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ได้เข้าถึงตลาดจีนมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนกว่า 160,000 คนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย จากเป้าหมายที่ไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยจีนเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 300,000 คน ในไตรมาสแรก และยังคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยประมาณ 7-10 ล้านคน หลังจากนี้จึงหวังเห็นมาตรการของจีนที่ช่วยส่งเสริมทั้งเรื่องการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า  ถ้ามองมิติการลงทุน การผลิตในจีน มี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. ภาคอสังหาริมทรัพย์ จีนพยายามสร้างเสถียรภาพของอสังหาริมทรัพย์  ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการผ่อนคลายกฎระเบียบและกระตุ้นให้มีการซื้ออสังหาริมทรัพย์  2. การลงทุนในภาคเอกชน ทั้งของจีนและต่างชาติ จีนพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ ซึ่งเดิมอาจจะไม่เชื่อมั่นในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19   พอรัฐบาลจีนออกมาแก้ปัญหาทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น 3. การลงทุนจากภาครัฐ ที่จีนประกาศเดินหน้าให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  ในการประชุมสองสภาหลายคนจึงจับตามองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ของจีน

นโยบายที่จีนจะขับเคลื่อนต่อจากนี้ จึงไม่เพียงแต่จะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ประเทศต่างๆ จะได้รับประโยชน์ด้วย


บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)