เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงจากการที่สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศของโลกเลวร้ายลงและการพัฒนาที่ยั่งยืนประสบความท้าทาย ประชาคมระหว่างประเทศต่างก็ตระหนักว่าการพัฒนาสีเขียวเท่านั้นจึงจะเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นการพัฒนาที่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และเป็นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน
“ดิฉันใช้ชีวิตอยู่ที่ปักกิ่งมา 5 ปีแล้ว โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าคุณภาพอากาศในปักกิ่งปรับปรุงดีขึ้นเป็นอย่างมากชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว” เมื่อเร็วๆนี้ ศิวัตรา สินพสุธาดล ผู้เชี่ยวชาญประจำภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนกล่าวเช่นนี้ในการต่อสายรายงานข่าวสดเข้าไปยังคลื่น FM100.5 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ไม่เพียงแต่ศิวัตรา สินพสุธาดลเท่านั้น แต่ชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางมาประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาต่างก็รู้สึกได้ถึงการปรับปรุงดีขึ้นอย่างชัดเจนของคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสีเขียว ได้ส่งเสริมการคุ้มครองระบบนิเวศและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้วยปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา "น้ำใสและภูเขาเขียวก็คือภูเขาเงินและภูเขาทอง" ได้กลายเป็นความเห็นพ้องต้องกันและการลงมือปฏิบัติของทั่วทั้งสังคมจีน การพิทักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากเป็นประวัติศาสตร์ทั้งเชิงจุดเปลี่ยนและภาพรวม
สถิติแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตของการใช้พลังงานเฉลี่ยต่อปีในระดับ 3% ของจีนได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีในระดับ 6.6% จีนเป็นผู้นำของโลกในการบรรลุ "การเติบโตเป็นศูนย์" ของการเสื่อมสภาพของที่ดิน และมีบทบาทที่แข็งขันต่อการบรรลุเป้าหมายของโลกที่จะลดการเสื่อมสภาพของดินให้เป็นศูนย์ในปี 2030 จีนเป็นกำลังหลักใน "การเพิ่มพื้นที่สีเขียว" ของโลกมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2000 ข้อมูลดาวเทียมจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐหรือนาซาแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2000 ถึง 2017 ประมาณหนึ่งในสี่ของพื้นที่สีเขียวใหม่ของโลกมาจากประเทศจีน
การส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง จีนกำลังใช้ความพยามเพื่อส่งเสริมการลดคาร์บอน การลดมลพิษ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การลดเศรษฐกิจคาร์บอนสูง และ"เศรษฐกิจสีดำ" ตลอดจนเพิ่มเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจที่สวยงาม
ปัจจุบัน มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 10% โดยกำลังการผลิตติดตั้งของทั้งไฟฟ้าพลังน้ำ ไฟฟ้าพลังลม และไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ล้วนครองอันดับหนึ่งของโลก ขนาดการผลิตของอุปกรณ์พลังงานสะอาดก็ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ปริมาณการผลิตโพลีคริสตัลไลน์ซิลิคอน ชิปซิลิคอน และส่วนประกอบแบตเตอรี่ครองสัดส่วนมากกว่า 70% ของโลก การผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ครองอันดับหนึ่งของโลกเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน จำนวนเสาชาร์จไฟที่ติดตั้งเรียบร้อยแล้วในพื้นที่ให้บริการตามทางด่วนก็มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกเช่นกัน
มนุษย์มีโลกเพียงใบเดียว การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกประเทศ จีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามบรรลุจุดสูงสุดในการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางของการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2060
จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น จีนดำเนินความร่วมมือใต้-ใต้อย่างแข็งขันในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ปี 2016 จีนได้ดำเนินโครงการต่างๆมากมายในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวเขตสาธิตคาร์บอนต่ำ 10 แห่ง โครงการบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 100 โครงการ โครงการความร่วมมือเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 1,000 โครงการ ตลอดจนโครงการช่วยเหลือต่างประเทศมากกว่า 200 โครงการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.6 กิกะวัตต์ในเขตอัลชูบาค ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรับเหมาก่อสร้างโดยบริษัทจีนนั้น ปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในตะวันออกกลาง อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของแผนพัฒนาพลังงานใหม่"วิสัยทัศน์ 2030" ของซาอุดิอาระเบียด้วย โครงการนี้จะช่วยสร้างงานในท้องถิ่นประมาณ 3,000 ตำแหน่ง หลังจากสร้างเสร็จคาดว่ายอดการผลิตไฟฟ้าภายในระยะเวลา 35 ปีจะอยู่ที่ประมาณ 282,200 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 245 ล้านตัน
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จีนได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อปรับปรุงกลไกความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาสีเขียว"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ได้ร่วมกันเสนอความคิดริเริ่มว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาสีเขียว"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"กับ 31 ประเทศ และได้ฝึกอบรมบุคลากรด้านการพัฒนาสีเขียวจำนวน 3,000 คนให้กับ 120 กว่าประเทศที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ผ่านการดำเนิน "โครงการทูตแห่งเส้นทางสายไหมสีเขียว"
นอกจากนี้ จีนยังได้ปฏิบัติตามความคิดริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาของโลก ส่งเสริมการจัดตั้งพันธมิตรด้านพลังงานสะอาดระดับโลก และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความร่วมมือด้านการใช้พลังงานใหม่ทดแทนพลังงานเก่าและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายใต้กรอบของกลุ่ม G-20 บริกส์ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และ เอเปก เป็นต้น
YIN/LU