ไทยได้รับเลือกเป็นประเทศเกียรติยศในงาน Beijing International Film Festival ครั้งที่ 13 เปิดโอกาสหนังไทยสู่ตลาดจีน

2023-05-14 12:31:43 | CMG
Share with:

งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปักกิ่งครั้งที่ 13 จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ศูนย์ประชุมเยี่ยนชีหูในกรุงปักกิ่ง โดยสำนักงานภาพยนตร์แห่งชาติ ไชนามีเดียกรุ๊ปและรัฐบาลกรุงปักกิ่ง  ธีมหลักของงานในปีนี้ คือ “แลกเปลี่ยนภาพยนตร์ เรียนรู้วัฒนธรรม”

ความพิเศษของงานในปีนี้คือไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศเกียรติยศ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ได้รับเลือกในช่วงหลังโควิด-19 และเป็นประเทศแรกในเอเชีย นอกจากนั้นผู้กำกับหญิงคนไทย “พิมพกา โตวิระ”   ยังได้รับเลือกให้เป็นกรรมการตัดสินรางวัลเถียนถาน ร่วมกับจางอี้โหมวที่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน และคณะกรรมการอีก 5 ท่าน

พิมพกาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทยไชน่ามีเดียส์กรุ๊ปว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะกรรมการตัดสินรางวัลแต่ภาพยนตร์ของเธอได้เคยถูกนำมาฉายที่เซี่ยงไฮ้แล้ว

พิมพกามองว่าจีนมีอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีความหลากหลายในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์  “ตกใจมากตอนที่ได้ทราบจำนวน Box office ของที่นี่ เพราะแม้เขาจะบอกว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ดีมาก แต่ก็คือมากกว่าเราหลายสิบเท่า วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ของคนจีนคือยังดูหนังในโรงหนังซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งทำให้ตลาดจีนมีความน่าสนใจ และมองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนค่อนข้างมาก สะท้อนภาพรวมของตลาดภาพยนตร์จีนที่ยังคงแข็งแรงมีกำลังเติบโต” พิมพกากล่าว

แม้ในปีที่ผ่านมาจีนต้องเผชิญกับสถานการณ์การป้องกันและควบคุมโควิด-19 แต่จากสถิติปี 2022 พบว่าตลาดภาพยนตร์จีนมีรายได้ 30.07 พันล้านหยวน หรือมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท จากทั่วประเทศ ภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศของจีนกวาดรายได้มากกว่า 85% ของรายได้ทั้งหมด

ในด้านความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระหว่างไทย-จีน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักลงเพราะสถานการณ์โควิด-19  วรรณสิริ โมรากุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทยไชน่ามีเดียส์กรุ๊ปว่า “มีการพูดคุยถึงการทำคอนเทนต์ร่วมกันระหว่างไทยกับจีน เช่น การสร้างภาพยนตร์โดยนำความเชื่อมโยงที่มีร่วมกันในด้านเวลาของ 2 ประเทศ การนำนักแสดงระหว่างไทยและจีนมาแสดงร่วมกัน สร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และในงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนพลัสที่จัดที่ประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วจีนก็มีโอกาสมาเข้าร่วม”

หลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการจีนในงานฯ วรรณสิริ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าตลาดจีนต้องการภาพยนตร์ในรูปแบบอบอุ่นหัวใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจ (Feel good) อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่องสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารักให้เข้ามาฉายในจีนมากขึ้น

ในขณะที่พิมพกามองว่าหากต้องการให้ภาพยนตร์ไทยไปอยู่บนเวทีโลกต้องมีปัจจัยหลักคือ การสนับสนุนของรัฐ นโยบายชัดเจน มีเป้าหมาย มีเงินทุน

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มและเรื่องราวของวงการภาพยนตร์ไทย-จีน ได้ในรายการจับจ้องมองจีน วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 เวลา 15.30 น. ทางเนชั่นทีวีช่อง 22


 (bo)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)