บทวิเคราะห์ : การปฏิเสธหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันขององค์การอนามัยโลกสะท้อนหลักการจีนเดียว

2023-05-23 13:02:15 | CMG
Share with:

เมื่อเร็วๆนี้มีการเปิดประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 76 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 10 วันที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ประชุมสมัชชาครั้งนี้ปฏิเสธอย่างชัดเจนอีกครั้งต่อการบรรจุหัวข้อที่ชื่อ "เชิญชวนไต้หวันให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในฐานะผู้สังเกตการณ์" ที่นำเสนอโดยไม่กี่ประเทศเข้าไว้ในระเบียบวาระการประชุม นี่เป็นการปฏิเสธประเด็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันของที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นอย่างเต็มที่ว่าความหมายของหลักการจีนเดียวนั้นชัดเจน และการนำไปใช้นั้นมีลักษณะที่ครอบคลุม ปราศจากเงื่อนไขและข้อกังขาใดๆ  ความมุ่งหมายที่จะท้าทายหลักการจีนเดียว หลักนิติธรรมระหว่างประเทศ และระเบียบระหว่างประเทศนั้นย่อมจะถูกคัดค้านจากประชาคมระหว่างประเทศและมิอาจประสบความสำเร็จได้

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า หลักการจีนเดียวเป็นฉันทามติทั่วไปของประชาคมระหว่างประเทศ เป็นบรรทัดฐานเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ หลักการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้รับการยืนยันโดยมติเลขที่ 2758 ของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ทั้งยังเป็นพื้นฐานการเมืองในการสถาปนาและพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับประเทศที่เกี่ยวข้อง ความเห็นทางกฎหมายอย่างเป็นทางการของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติก็ระบุอย่างชัดเจนว่า "ไต้หวันในฐานะมณฑลหนึ่งของจีนไม่มีความเป็นเอกราช"

แต่ทว่าทางการพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในไต้หวันไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวไต้หวัน ยืนกรานที่จะยุยงสิ่งที่เรียกว่า"ประเทศที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต"ให้เสนอญัตติที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน สหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุนและยุยงทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อเติมเชื้อไฟในเรื่องนี้ การกระทำอันเลวร้ายที่ขัดต่อกระแสประวัติศาสตร์และจงใจละเมิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเช่นนี้จึงถูกคัดค้านอย่างเป็นเอกฉันท์จากบรรดาประเทศที่ผดุงความยุติธรรมในโลก ก่อนเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งนี้มีเกือบร้อยประเทศได้แสดงการยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและคัดค้านไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมประชุมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การส่งจดหมายถึงองค์การอนามัยโลก การออกแถลงการณ์ ฯลฯ

รัฐบาลกลางของจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องร่วมชาติชาวไต้หวัน ภายใต้เงื่อนไขหลักการจีนเดียว รัฐบาลกลางของจีนได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในกิจการด้านสาธารณสุขระดับโลก หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลกลางของจีนได้แจ้งให้ไต้หวันทราบถึงสถานการณ์โรคระบาดมากกว่า 500 ครั้ง ได้อนุมัติให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากไต้หวันเข้าร่วมในกิจกรรมทางเทคนิคขององค์การอนามัยโลก 24 ครั้งรวม 26 คนเมื่อปีที่แล้ว ในไต้หวันได้ตั้งจุดติดต่อสำหรับ “กฎอนามัยระหว่างประเทศ”  สามารถรับและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที ฉะนั้น สิ่งที่กล่าวอ้างว่าเป็น"ช่องว่างในระบบป้องกันโรคระบาดระหว่างประเทศ" จึงเป็นเพียงเรื่องไร้สาระโดยแท้

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สหรัฐอเมริกามองจีนเป็นคู่แข่งหลักและเป็นความท้าทายระยะยาวที่หนักหน่วงที่สุด ได้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะเล่นงานและโหมกระพือประเด็นช่องแคบไต้หวัน ซึ่งจุดประสงค์หลักก็เพื่อขัดขวางการพัฒนาของจีน นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังระดมพันธมิตรของตนให้เร่งเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นไต้หวัน รวมกลุ่มขัดขวางกระบวนการรวมชาติของจีน เพื่อพยายามขุดค้น "คุณค่าทางการเมือง" ของไต้หวันให้มากที่สุด

นักสังเกตการณ์ชี้ว่าต้นเหตุที่ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันในช่องแคบไต้หวันต้องเผชิญกับความตึงเครียดและความท้าทายที่รุนแรงนั้นก็เป็นเพราะพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในไต้หวันและสหรัฐอเมริกาพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่และสร้างสถานการณ์ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในไต้หวันควรมองเห็นสถานการณ์อย่างกระจ่าง หยุดการกระทำเพื่อความเป็นเอกราชของไต้หวันซึ่งรวมถึง"การใช้โรคระบาดเพื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาความเป็นเอกราช"ด้วย  สหรัฐอเมริกาก็ควรหยุดสร้างเรื่องสาธารณสุขให้เป็นประเด็นทางการเมือง หยุดเข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีนโดยอ้างประเด็นไต้หวัน และหยุด"ใช้ไต้หวันยับยั้งจีน"ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง


IN/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-04-2567)

  • เกาะกระแสจีน (20-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (19-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (19-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (19-04-2567)