การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในเขตซานเจียงหยวนของจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2023-06-05 15:30:47 | CMG
Share with:

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ซานเจียงหยวน (Sanjiangyuan) มณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

พื้นที่ซานเจียงหยวน เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำใหญ่สามสาย ได้แก่แม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลืองและแม่น้ำล้านช้าง   อุทยานแห่งชาติ ซานเจียงหยวน อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ยมากกว่า 4,700 เมตร เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลสูงที่สุดในโลก อุทยานแห่งชาติดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 190,700 ตร.กม. และเป็นหนึ่งในพื้นที่บนที่ราบสูงที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก

ทุกๆ ปี ละมั่งทิเบตที่ตั้งท้องนับหมื่นตัวจะอพยพไปยังเขต โฮ ซิล (Hoh Xil) ในมณฑลชิงไห่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม เพื่อออกลูกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ถึง 1990 เนื่องจากมีการลักลอบล่าสัตว์ป่าอย่างรุนแรง จำนวนประชากรละมั่งทิเบตในเขตโฮ ซิล ลดลงอย่างมาก เหลือเพียงประมาณ 20,000 ตัวเท่านั้น   แต่หลังจากจีนใช้มาตรการเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่า และทุ่มเทกำลังมากขึ้นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเขตโฮซิล ได้กลายเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของละมั่งทิเบตมากกว่า 70,000 ตัว 

นับตั้งแต่ก่อตั้งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติ หลองป่าว (Longbao) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ซานเจียงหยวน ในปี 1984 จำนวนสายพันธุ์นกในเขตอนุรักษ์ดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 30 สายพันธุ์มาเป็น 138 สายพันธุ์ 

นายปาซาง เซอริง (Pasang Tsering) หัวหน้าสถานีบริหารเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติหลองป่าว กล่าวว่า จำนวนนกกระเรียนคอดำ ซึ่งเป็นนกสายพันธุ์ที่จัดอยู่ในบัญชีการคุ้มครองระดับชาติชั้นหนึ่งในเขตอนุรักษ์แห่งนี้ได้เพิ่มขึ้นจากไม่กี่สิบตัวมาเป็นกว่า 200 ตัว และยังมีห่านหัวลาย (bar-headed geese) จำนวนมากกว่า 10,000 ตัวในช่วงฤดูกาลที่มีจำนวนห่านหัวลาย มากที่สุด

นายปาซาง เซอริง ยังกล่าวด้วยว่า ปีนี้เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติหลองป่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ” ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่นี่จะได้รับการอนุรักษ์อย่างครอบคลุมและเป็นระบบมากขึ้น 

นายเทียน เจี้ยน หัวหน้าวิศวกรของสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งมณฑลชิงไห่กล่าวว่า ปัจจุบัน 85 เปอร์เซ็นต์ของที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในมณฑลชิงไห่ได้รับการอนุรักษ์ทางธรรมชาติด้วยดี ทำให้จำนวนประชากรสัตว์ป่าหายากและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก 

นายจาง อี้ว์ เจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าของมณฑลชิงไห่กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การอนุรักษ์และวิจัยพืชป่าหายากและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ในมณฑลชิงไห่มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด 

จากการส่งเสริมการพัฒนาระบบอนุรักษ์ธรรมชาติโดยมีอุทยานแห่งชาติเป็นหลัก พืชป่ากว่า 75 เปอร์เซ็นต์ในมณฑลชิงไห่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มีส่วนช่วยมากในการสร้างธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งชาติสำหรับทรัพยากรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตในป่าในมณฑลชิงไห่ที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต 


 (bo/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (08-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (08-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (08-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (07-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (07-05-2567)