“สู้ฟ้าท้าดิน... จีนผันน้ำจากภาคใต้ไปเลี้ยงภาคเหนือระยะทางหลายพัน กม.”

2023-08-12 20:28:39 | CMG
Share with:

จีนเป็นประเทศใหญ่  พื้นที่ 9.59 ล้านตร.กม.  ภูมิประเทศมีความหลากหลาย ชายแดนด้านตะวันตกคือที่ราบสูงทิเบต สูงจนได้ชื่อว่าเป็นหลังคาโลก เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำน้อยใหญ่มากมายที่ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางและภาคใต้ ทำให้ภาคกลางและภาคใต้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญในการผลิตธัญญาหารเลี้ยงประเทศ  เหนือทิเบตขึ้นไปทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา ทะเลทรายทากลามากัน และ โกบี เป็นทะเลทรายใหญ่แห้งแล้งมาก กรุงปักกิ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของทะเลทรายโกบีไม่มากนัก  จึงเป็นเมืองหนึ่งที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ

กษัตริย์ราชวงศ์ต่าง ๆ ในอดีตพยายามอย่างยิ่งที่จะบรรเทาปัญหาปักกิ่งขาดแคลนน้ำ  โดยใช้วิธีเกณฑ์แรงงานชาวบ้านระดมกันขุดคลองจากแม่น้ำแยงซีใกล้เมืองหังโจวซึ่งอยู่ทางใต้  ให้เป็นคลองที่สามารถผันน้ำและลำเลียงเสบียงอาหารจากทางใต้ขึ้นไปเลี้ยงกรุงปักกิ่ง  คลองขุดที่มีชื่อเรียกว่า “ต้ายุ่นเหอ” นี้มีความยาวถึง 2,700 กิโลเมตร ขุดผ่านมณฑลต่างๆ ระหว่างทาง 8 มณฑล  นักประวัติศาสตร์ยกย่องความยิ่งใหญ่ของ “ต้ายุ่นเหอ” เสมือนหนึ่ง “กำแพงเมืองจีน” ที่ใช้แรงงานคนล้วน ๆ สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ “ต้ายุ่นเหอ” และ “กำแพงเมืองจีน” ทั้งสองแห่งได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก

แม้จะมีคลอง “ต้ายุ่นเหอ” แล้ว  น้ำก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับจีนภาคเหนือและภาคตะวันตกอยู่นั่นเอง  เพราะเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น การขาดแคลนน้ำและต้องการน้ำก็เพิ่มขึ้นด้วย ความคิดที่จะผันน้ำจากภาคใต้ขึ้นมาช่วยทางเหนือจึงยังไม่ล้าสมัย  ปี 1952  ประธานเหมาฯ ก็ยืนยันและให้คำชี้แนะไปในแนวนี้ รัฐบาลชุดต่อ ๆ มาจึงได้ลงมือกระทำด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการวางแผนผันน้ำจากใต้ขึ้นเหนือ” ขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นโครงการที่ใช้ศาสตร์ทางวิศวกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วย และยกความสำคัญของโครงการนี้ขึ้นเป็นโครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติ   ตามโครงการที่วางไว้จีนจะขุดคลองให้ได้ 3 สาย

คลองขุดโบราณ “ต้ายุ่นเหอ” จะเป็นสายแรกที่อยู่ติดทะเล  ทางการก็จะบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมเสริมแต่งทุกอย่างที่จำเป็นขึ้นมาด้วยวิทยาการสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐาน รวมใช้เวลาสร้างและปรับปรุงอยู่ถึง 15 ปี   ปัจจุบัน “ต้ายุ่นเหอ” ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจีนด้วย  เพราะตลอดทางของคลองขุดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าศึกษาเป็นจำนวนมาก

สายที่ 2 เป็นคลองที่อยู่ถัดจากคลองที่ 1 ลึกเข้ามาอีก  เริ่มต้นจากช่วงกลางของแม่น้ำแยงซีในมณฑลหูเป่ย  ไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบรอบกรุงปักกิ่ง-เทียนสิน  วิศวกรต้องใช้ทั้งการเจาะอุโมงค์ส่งน้ำรอดใต้ท้องน้ำ  และวิธีการทางวิศวกรรมอื่น ๆ ปรับไปตามสภาพของภูมิประเทศแต่ละแห่ง สายที่ 2 นี้ต้องใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 9 ปี เสร็จสมบูรณ์ใช้งานได้ตั้งแต่ปี 2014  ความยาวทั้งสิ้นอยู่ที่ 2,400 กิโลเมตร  ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 2.12 ล้านล้านบาท  ในระหว่างก่อสร้างต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ถึง 320,000 คน  ความสำเร็จของโครงการที่ 2 ในการผันน้ำจากแม่น้ำแยงซีไปทางเหนือจนถึงปักกิ่ง  ทำให้พื้นที่ราว 155,000 ตารางกิโลเมตรตลอดเส้นทาง  ซึ่งเคยแห้งแล้งกลับมีความชุ่มชื้นเพาะปลูกได้ผลดี

สายที่ 3 อยู่ลึกเข้าไปทางตะวันตกถัดจากสายที่ 2 เข้าไปอีกต่อหนึ่ง  โครงการนี้ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง  แต่ได้ตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะเป็นคลองที่ช่วยชักน้ำจากแม่น้ำยาหลงเจียง  สาขาหนึ่งของแม่น้ำแยงซี  ขึ้นไปหล่อเลี้ยงพื้นที่มณฑลชิงไห่ กานซู่ มองโกเลียใน และช่วยเพิ่มระดับน้ำให้กับแม่น้ำฮวงโห  ซึ่งในหน้าแล้งน้ำจะแห้งขอด  แต่ช่วงหน้าน้ำดินทรายสีเหลืองที่ตกตะกอนอยู่ใต้ท้องน้ำจะทำให้น้ำล้น  เกิดอุทกภัยขึ้นบ่อย ๆ จนได้ชื่อว่า “แม่น้ำวิปโยค” คลองสายนี้เมื่อแล้วเสร็จจะมีความยาว 450 กิโลเมตร 

นอกจากคลอง 3 สายดังกล่าวแล้ว  ในปี 2106 นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำยังเสนอให้ขุดคลองสายที่ 4 ซึ่งจะเป็นโครงการใหญ่มากตั้งชื่อไว้แล้วว่าโครงการ “หงฉีเหอ” (แม่น้ำธงแดง) เป็นโครงการที่จะรวบรวมแหล่งน้ำจากแม่น้ำแถบทิเบต-ยูนนาน ส่งขึ้นไปจนถึงทะเลทรายซินเกียง ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นโครงการ mega  project ที่ท้าทายประสิทธิภาพของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง  เพราะการก่อสร้างตลอดเส้นทางล้วนต้องทำกันบนที่ราบสูงซึ่งอากาศเบาบาง  ระยะทางก็ไกลมากกว่าจะถึงทะเลทรายซินเกียง  วิศวกรต้องปรับวิธีทำงานไปตามสภาพทางธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ด้วยระยะทางถึง 6,188 กิโลเมตร   แต่ถ้าทำสำเร็จจะเป็นโครงการแรกที่สามารถผันน้ำจากแม่น้ำไปหล่อเลี้ยงทะเลทราย ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกพืชได้เป็นครั้งแรก 


โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

 

 

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (03-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (03-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (03-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)