รถไฟความเร็วสูง จาการ์ตา–บันดุง อินโดนีเซียกับประโยชน์ที่จะได้รับ

2023-08-25 10:53:22 | CMG
Share with:

น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับ รถไฟความเร็วสูง สายแรกของประเทศอินโดนีเซีย  เส้นทาง จาการ์ตา–บันดุง เนื่องจากรถไฟสายนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการ Belt and Road Initiative: BRI ของจีน ซึ่งทั่วโลกรับรู้ว่า BRI เป็นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศเจตนารมณ์และแนวคิดมาตั้งแต่ต้นว่า มุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิดสังคมมนุษยชาติที่มั่นคง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งงบประมาณไว้กว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้เงินทุนสนับสนุน และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก

ขณะเดียวกันการพัฒนาการขนส่งทางรางในโลกปัจจุบันเอง ก็ก้าวรุดหน้าไปไกล โดยเฉพาะกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ได้ทำให้การค้าทั่วโลก ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปมาก จากความรวดเร็วในการขนส่ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งอยู่ในระดับที่ถือว่าไม่สูงมากจนเกินไป

ประเทศอินโดนีเซีย ให้ความสำคัญกับการมีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่ต่างจากประเทศในอาเซียน หรือในภูมิภาคเอเชีย แน่นอนว่าย่อมรวมถึงประเทศไทยเองด้วย ที่ต้องการจะให้มีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น แต่ปัญหาภายในประเทศจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้รถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะระยะทางแค่ 3.5 กิโลเมตรที่ยังค้างเติ่งอยู่นั้น ไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าไทยมีรถไฟความเร็วสูงแล้ว

ด้วยเหตุนี้เอง การที่อินโดนีเซีย เดินหน้าเรื่องรถไฟความเร็วสูงอย่างจริงจัง จึงถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องของการพัฒนาระบบขนส่งทางรางอย่างจริงจัง

สำหรับ รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุง มีระยะทางรวม 142 กิโลเมตร ปกติจะต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงครึ่งหากนั่งรถไฟความเร็วปกติ แต่เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงที่ทำความเร็วถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยย่นเวลาเดินทางเหลือเพียง 34-45 นาทีเท่านั้น และยังสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 601 คน โดยมีจุดจอดจำนวน 4 สถานี

รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง เริ่มต้นด้วยการประมาณการมูลค่าการก่อสร้างโครงการ อยู่ที่ราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 204,000 ล้านบาท แต่ภายหลังได้มีการเพิ่มงบประมาณอีกอย่างน้อย 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากต้นทุนด้านวิศวกรรม การก่อสร้าง และการซื้อที่ดิน เพิ่มสูงขึ้น

รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ถือเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่สร้างขึ้นในอินโดนีเซียและอาเซียน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 2018 ซึ่งหากนับถึงปัจจุบัน นั่นคือผ่านระยะเวลามานานกว่า 5 ปีแล้ว จึงกลายเป็นกรณีศึกษา ถูกจับตามองอย่างมากว่า ความล่าช้าเกิดขึ้นจากอะไรแน่

โครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ก่อสร้างและดำเนินการโดยบริษัท เคเรตา ซีปัต อินโดนีเซีย ไชน่า (KCIC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชันแนล และกลุ่มบริษัทของรัฐในอินโดนีเซีย อีกทั้งโครงการได้รับเงินสนับสนุนส่วนใหญ่จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีนและงบประมาณของรัฐบาลอินโดนีเซีย

เป้าหมายเดิมในเบื้องต้น คาดว่ารถไฟความเร็วสูงสายนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลับเกิดความล่าช้าหลายครั้ง ทั้งจากค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นและอุบัติเหตุ ทำให้ช้าจากกำหนดเดิมไปถึง 4 ปี ขณะที่งบประมาณการลงทุนสูงขึ้นไปแตะ 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้โครงการนี้ สำหรับจีนแล้ว ถือเป็น ‘โชว์เคส’ ที่สำคัญของจีนในการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจีนจะต้องแข่งขันกับญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงมานานแล้ว แต่เพราะความความล่าช้าที่เกิดขึ้น และประเด็นเรื่องงบประมาณที่บานปลาย ได้ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ และข่าวลือต่างๆตามมามากมาย โดยเฉพาะในประเด็นเดิมๆที่ใช้กล่าวหาจีนมาโดยตลอด ในเรื่องการช่วยเหลือในราคาที่ค่อนข้างสูง และเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับจากพื้นที่ในประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีกระแสข่าวลือเกิดขึ้น แต่การก่อสร้างก็ยังคงเดินหน้า โดยล่าสุดการก่อสร้างสถานี สะพาน และงานฐานรากเสร็จแล้ว  ทำให้มีการกำหนดเบื้องต้นว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการได้ในเดือนสิงหาคม โดย PT KCIC ประกาศว่า รถไฟความเร็วสูงสาย จาการ์ตา-บันดุง จะเริ่มทดสอบเดินรถและเปิดให้ผู้โดยสารทั่วไปทดลองใช้ในวันที่ 18 สิงหาคม 2023 แต่วันเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ยังไม่ได้กำหนดขึ้น

“นี่จะเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์การรถไฟของอินโดนีเซีย เมื่อเราเริ่มเดินรถไฟความเร็วสูง” Emir Monti โฆษกบริษัท PT KCIC กล่าวในแถลงการณ์ครั้งนี้

การแถลงการณ์เรื่องวันเริ่มทดสอบเดินรถอีกครั้งของบริษัท จึงถือเป็นการตอบข่าวลือต่างๆ นาๆ ว่า จริงๆ รถไฟพร้อมแล้วที่จะทดสอบที่ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขออย่าเชื่อข่าวลือ เนื่องจากอินโดนีเซีย เริ่มทดสอบระบบรถไฟความเร็วสูงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และค่อยๆ เพิ่มความเร็วจาก 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนถึงความเร็วสูงสุดตามที่ออกแบบไว้คือ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงทดสอบระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบราง ระบบจ่ายไฟฟ้า การสื่อสาร สัญญาณต่างๆ รวมถึงการแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทาง PT KCIC ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะเลื่อนการเปิดทดลองใช้ฟรีรถไฟความเร็วสูงจากวันที่ 18 สิงหาคม ไปเป็นต้นเดือนกันยายน ปี 2023 เนื่องจากต้องการเวลามากขึ้น เพื่อรับประกันความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร

PT KCIC ยืนยันว่า การทดลองภายในดำเนินไปอย่างราบรื่น และบริษัทฯ ยังคงทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับใบรับรองการดำเนินงานที่จำเป็น โดย นายโมฮาหมัด ริซาล วาซาล เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังคงมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยอยู่ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ระหว่างการไปเยือนจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ทั้งสองประเทศต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานระดับสูง เพื่อรับประกันความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร

หากเหตุผลของการ “เลื่อนเปิด” เป็นเรื่องของความปลอดภัย ต้องถือว่าเป็นเหตุผลที่จำเป็นและมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ที่แน่ๆ นี่เป็นเพียงแค่การเลื่อนเท่านั้น สุดท้ายไม่ว่าอย่างไรโครงการนี้ก็ย่อมต้องเปิดใช้งานในที่สุด เพราะได้ดำเนินการมาจนถึงจุดใกล้ความสำเร็จอย่างมากแล้ว และเมื่อถึงวันที่เปิดให้บริการจริง อินโดนีเซียก็จะได้รับประโยชน์อย่างมากมายจากโครงการนี้แน่นอน


ภูวนารถ ณ สงขลา

นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

บรรณาธิการบริหาร

สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ออนไลน์

สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)