ทำไมวันชาติจีนปีนี้ไม่มีขบวนพาเหรด ไม่มีการสวนสนาม ?

2023-10-03 17:40:39 | CMG
Share with:

ทุกประเทศในโลกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่   ต่างก็มีวัน ๆ หนึ่งที่กำหนดให้เป็นวันสำคัญประจำชาติเรียกว่า “วันชาติ”  การเลือกวันชาติมักกำหนดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชาตินั้น ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะทางการเมืองอย่างมีนัยะสำคัญ   แต่ละปีเมื่อถึงวันชาติก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองกันด้วยรูปแบบต่าง ๆ กัน   แต่จุดมุ่งหมายหลัก ๆ กลับตรงกัน  คือเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้รู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติและจดจำเหตุการณ์เหล่านั้นสืบต่อไปไม่รู้ลืม  ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส   เลือกเอาวันที่ 14 ก.ค. เป็นวันชาติ  เพราะวันนั้นมวลชนนับแสน ๆ ในกรุงปารีสพร้อมใจกันลุกฮือขึ้นบุกทำลายคุกบาสติล (Bastille)  ซึ่งเป็นตัวแทนของระบอบศักดินาแห่งราชวงศ์บูร์บอง (Bourbon)  จากนั้นก็ให้ถือวันที่ 14 กค.เป็นวันชาติของฝรั่งเศสเรื่อยมาทุกปี 

แต่บางประเทศเช่นประเทศไทยเรา  เคยกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ  เพราะเป็นวันที่คณะราษฎร์ได้ทำปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ  แต่หลังจากที่จอมพลป. พิบูลสงครามได้ประกาศให้วันที่ 24 มิ.ย.เป็นวันชาติมานานกว่า 10 ปี  จู่ ๆ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ประกาศสำนักนายกฯ เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน  ให้เป็นวันที่ 5 ธันวาคมซึ่งตรงกับวันพระสมภพของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ให้เป็นวันชาติแทน  (แต่เรียกว่า “วันพ่อแห่งชาติ”ก็มี )  จอมพลสฤษดิ์ให้เหตุผลที่ให้ล้มเลิกวันที่ 24 มิถุนายนว่า  “มีความไม่เหมาะสมบางประการ”  แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าความไม่เหมาะสมนั้นคืออะไร

จากที่ยกมาเป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าทุกประเทศต่างก็สรรหาวันสำคัญวันหนึ่งขึ้นมาเป็น “วันชาติ”   แต่เหตุผลที่เลือกวันนั้น ๆ แตกต่างกันร้อยแปดพันเก้า   วิธีการเฉลิมฉลองของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน  ขึ้นกับการให้ความสำคัญของผู้นำในแต่ละยุค   บางประเทศก็จัดเป็นงานใหญ่  มีการเดินขบวนสำแดงกำลังกันเอิกเกริก  (เช่น ประเทศเกาหลีเหนือ)  บางประเทศก็ทำพอเป็นพิธี  หยุดงานสักหนึ่งวันพอให้ประชาชนไม่ลืมว่าวันนั้น ๆ เรียกว่า “วันชาติ” 

วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันชาติจีน   วันชาติจีนมีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับการเหตุการณ์ทางการเมืองของชาติทั้งโดยตรงและอย่างแท้จริง   กล่าวคือ  หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) รบชนะพรรคก๊กมิ่นตั๋ง  รวบอำนาจทั่วประเทศได้อย่างเด็ดขาดแล้ว   ในเดือนกันยายนปีนั้น พคจ. ก็ได้เปิดประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองสมัยที่ 1 ขึ้นเป็นครั้งแรก  เชิญทุกพรรค ทุกฝ่ายที่เป็นแนวร่วมกับพคจ.  (จีนมีพรรคและองค์กรมวลชนต่าง ๆ ที่เป็นแนวร่วมกับพคจ.อยู่จำนวนหนึ่ง) เข้าร่วมการประชุมด้วย  ในครั้งนั้นที่ประชุมมีมติสำคัญ ๆ คือ  1) ให้ตั้งกรุงปักกิ่ง (เดิมชื่อเป่ยผิง) เป็นเมืองหลวงของประเทศ  2) ให้ใช้เพลงที่มีท่วงทำนองปลุกเร้าจิตใจที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยต่อต้านญี่ปุ่นให้ป็น “เพลงชาติ”  (ทุกครั้งที่จีนจัดงานที่เป็นทางการ เช่น การประชุมสภาฯ จะเปิดเพลงนี้ทุกครั้ง  ผู้นำทุกคนจะยืนขึ้นและร่วมร้องไปด้วยกัน)  3) กำหนดรูปแบบของ “ธงชาติ”   ให้เป็นธงสีแดงประดับดาวสีทอง 5 ดวง  ดวงโตที่อยู่มุมบนมีความหมายแทนพรรคฯ  อีก 4 ดวงเล็กที่ล้อมรอบเป็นตัวแทนของชนชั้นทั้ง 4 อันได้แก่ กรรมกร ชาวนา  นายทุนน้อย และนายทุนชาติ  4) ที่ประชุมได้เลือกตั้งคณะกรรมการรัฐบาลประชาชนกลางชุดแรกขึ้น  โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 56 คน  ใช้เวลาในการประชุมครั้งนี้รวม 10 วัน      

รุ่งขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 1 ตุลาคม  กรรมการทั้งหมดได้กลับเข้าที่ประชุมอีกครั้ง  ครั้งนี้ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์  รับหลักการสำคัญซึ่งจะใช้เป็นเข็มทิศชี้นำทางการปกครองประเทศต่อไป เรียกย่อ ๆ ว่า “หลักนโยบายร่วม” ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ  เสร็จจากนั้นเวลาบ่าย 3 โมง  ประธานเหมาฯก็ได้ปรากฏตัวบนจัตุรัสเทียนอันเหมิน  อ่านประกาศการก่อตั้ง “ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน” ขึ้นเป็นครั้งแรก  เมื่อการประกาศก่อตั้งประเทศเสร็จสิ้นลงมวลชนกว่า 3 แสนคนซึ่งได้ตระเตรียมไว้แล้ว  ก็ออกมาร่ายรำทำเพลงเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก   ตลอด 74 ปีตั้งแต่วันนั้นจนบัดนี้   1 ตุลาคมก็ถือเป็นวันชาติของจีนอย่างเป็นทางการตลอดกาล

ช่วง 10 ปีแรกของการก่อตั้งประเทศ ทางการจัดงานวันชาติให้เป็นงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่  มีการสวนสนามสำแดงพลังและสรรพาวุธของทุกเหล่าทัพ มองดูพรึ่บพรั่บน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง   แต่ต่อมาในปี 1960  รัฐบาลจีนกลับมานั่งทบทวนความคิดใหม่อีกครั้ง  แล้วมีความเห็นว่าการสวนสนามสำแดงกำลังอย่างยิ่งใหญ่ดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ   ส่วนการเอากำลังพลไปฝึกความพร้อมเพรียงสำหรับเดินขบวนก็เป็นการกระทำที่เกินความจำเป็น  ดังนั้นนับแต่ปี 1960-1970  การสวนสนามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินก็ถูกยกเลิก  รัฐบาลมีมติใหม่ให้การสวนสนามมีได้เพียงครั้งเดียวทุก ๆ 10 ปี  แต่พิธีกรรมอื่น ๆ ที่ต้องทำเป็นประจำก็ยังคงทำต่อ  เช่น  การอัญเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาที่กลางจัตุรัสเทียนอันเมิน  กองดุริยางค์ทหารบรรเลงเพลงชาติ  จากนั้นผู้นำพรรคฯและรัฐบาลวางพวงหรีดคารวะจิตใจวีรชนแห่งชาติที่อนุสาวรีวีรชนซี่งตั้งอยู่กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน  ตรงข้ามกับรูปวาดของประธานเหมาฯ    สำหรับประชาชนทั่วไปแม้การเดินขบวนจะถูกตัดไม่ได้ไปร่วมเฉลิมฉลอง  แต่ความสำคัญของวันชาติก็จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป   เป็นวันหนึ่งที่ทุกคนรอคอย  เพราะรัฐบาลได้กำหนดให้วันชาติเป็นวันหยุดใหญ่ประจำปี  ประชาชนมีโอกาสไปพักผ่อนท่องเที่ยวเต็มที่ถึง 1 สัปดาห์

นี่คือเหตุผลที่ทำให้วันชาติจีนปีนี้ไม่มีการเฉลิมฉลองขนาดใหญ่   ไม่มีการเดินขบวนของเหล่าทัพ  การสวนสนามของทหารพร้อมสรรพาวุธทันสมัยต่าง ๆ  ต้องอดใจรอต่อไปอีก  6 ปีจึงจะได้เห็น

ก่อนจบ  อยากแชร์ความรู้ใหม่เกี่ยวกัยภาพวาดของประธานเหมาที่ตั้งเด่นอยู่เหนือจัตุรัสเทียนอันเหมิน  ภาพของท่านผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลรูปนี้เป็นภาพวาดเสมือนจริงขนาด  6 x 4.6 เมตร  น้ำหนัก 1.5 ตัน  ทุกปีจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนภาพใหม่มาแทนภาพเก่า  เพื่อให้ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชาติดูดีมีสง่าราศรีตลอดไป 


โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์ 

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)