เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนกำลังมีโครงการสำรวจเรื่องโครงสร้างประชากรเพื่อนำมาวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกำหนดนโนบายด้านประชากรของจีน
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจีน ที่มีจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงและจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เป็นประเด็นสำคัญที่จีนกำลังหาแนวทางรองรับ ในปีพ.ศ. 2565 จีนมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี มากถึงกว่า 280 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.8 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ในช่วงปี 2555-2562 ประชากรวัยทำงานของจีน ซึ่งมีอายุระหว่าง 16 ถึง 59 ปี ลดลงกว่า 26 ล้านคน
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ทางการจีนส่งเสริมการจ้างงานจากผู้สูงอายุในวัยเกษียณให้ทำงานต่อ Zhao Biqian นักวิจัยจาก Chinese Academy of Labour and Social Security ให้มุมมองว่า ในขณะที่ประชากรของจีนมีอายุมากขึ้น หลายภาคส่วนต้องการให้ผู้สูงอายุมีบทบาทในสังคมต่อไป ขณะที่ผู้สูงอายุจำนวนมากก็ยังต้องการทำงานต่อไป ดังนั้นการสร้างบรรยากาศเชิงบวกสำหรับการจ้างงานผู้สูงอายุสามารถทำได้ ด้วยการสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานให้กับผู้สูงอายุ และเสริมสร้างการรับรู้ของสังคมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ มีตัวอย่างประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสำหรับผู้สูงอายุ และเสนอสิ่งจูงใจแก่บริษัทต่างๆ ที่จ้างงานผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี รวมถึงการให้ผู้สูงอายุทำงานบริการชุมชน และเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้สูงอายุ สถาบันอาชีวศึกษาสำหรับผู้สูงอายุน่าจะเป็นตัวช่วยที่ดี ในการช่วยฝึกอบรมให้กับผู้สูงอายุ เช่นการสอนเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และส่งเสริมให้มีบริการจัดหางานที่ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบัน กฎหมายจีนกำหนดให้ผู้ชายเกษียณอายุที่อายุ 60 ปี พนักงานบริษัทหญิง เกษียณอายุที่ 55 ปี และ ผู้ใช้แรงงานหญิงเกษียณอายุที่ 50 ปี ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรจีนอยู่ที่ 77.93 ปี เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ อายุเกษียณนี้ยังถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงมากนัก ดังนั้นการเลื่อนอายุเกษียณออกไปจึงแนวทางหนึ่งที่ทางการจีนกำลังมีการพิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป
ขณะที่ผู้สูงอายุที่ยังต้องการทำงานอยู่ ส่วนใหญ่ทำเพื่อหารายได้เสริม หลายคนต้องการการจ้างงานแบบยืดหยุ่น และอยากให้มีการพัฒนาทักษะหลังเกษียณ เนื่องจากสภาพการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้นและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากประสบปัญหา เช่น หางานได้ยาก มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้งานของผู้สูงอายุมักจำกัดอยู่แค่งานบริการจัดเลี้ยง งานทำความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย พยาบาล และงานบริการอื่นๆ
การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในวัยเกษียณจึงเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของจีน โดยสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมทักษะอาชีพต่างๆ ทั้ง Reskill Upskill Newskill ให้กับกลุ่มผู้สูงวัย ปรับปรุงกฎระเบียบในการจ้างงานผู้สูงอายุ และการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานผู้สูงอายุ เช่น ไม่ให้ทำงานที่ต้องใช้แรงงานมาก หรือหลีกเลี่ยงงานที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ รวมถึงดูแลให้ผู้สูงอายุมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ทักษะความสามารถในการสร้างรายได้และตอบโจทย์ภาคแรงงานที่ต้องการบุคลากรมาเติมเต็มในงานด้านต่างๆ ด้วย
บทความ: ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN