โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์
เหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกสนใจนำเสนอกันมากที่สุดในระยะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการประชุม “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ One Belt One Road ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้ที่กรุงปักกิ่ง ครั้งนี้จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปีที่สี จิ้นผิงผู้นำจีนเคยไปกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศคาซัคสถาน และต่อมาก็ไปพูดอีกครั้งที่ประเทศอินโดนีเซีย เนื้อหาทั้ง 2 ครั้งมุ่งตรงสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือความคิดที่ต้องการจะเห็นโลกทั้งโลกสามารถไปมาหาสู่กัน ผู้คนอยู่กันอย่างมีความสุข เป็นมิตรกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อำนวยประโยชน์แก่กันด้วยน้ำใสใจจริง สีฯเปรียบความรู้สึกแห่งไมตรีจิตมิตรภาพที่ชาวโลกมีต่อกันเช่นนี้ว่าเหมือน “การยื่นดอกกุหลาบให้คนอื่น ความหอมของกุหลาบจะยังคงติดมือผู้ให้เสมอ”.... แต่ความคิดดังกล่าวที่สีฯต้องการจะเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าโลกทั้งโลกไม่มีเส้นทางติดต่อไปมาหาสู่กัน ไม่มีถนนหนทางเป็นโครงข่ายนำพาผู้คนไปถึงกันได้ไม่ว่าทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ
ความคิดของสี จิ้นผิงที่กล่าวมาหาได้เกิดจากการนั่งเทียนคิดนึกเอาเองก็หาไม่ เขาเองเป็นคนกล่าวต่อที่ประชุมว่า ความคิดนี้ผุดขึ้นมาจากการหวนคิดถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 2000 ปีก่อน ตอนที่พ่อค้าชาวจีนเคยเอาชีวิตเป็นเดิมพันเดินทางด้วยเท้าเปล่า ผ่านทะเลทรายอันร้อนระอุ เพื่อหาทางไปค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศที่อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางเป็นปี ๆ แล้วเหตุไฉนจีนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีความพร้อมด้านต่าง ๆ รออยู่อย่างมากมาย หากจีนสามารถจูงใจให้ประเทศต่าง ๆ คิดเห็นเช่นเดียวกับตน ลงมือช่วยกันสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการพิ้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเดินทางถึงกัน ไม่ว่าจะอยู่ไกลกันแค่ไหนไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างกันก็สามารถส่งต่อถึงกัน ความร่วมมือกันเพื่ออำนวยประโยชน์แก่กันและกันก็จะเกิดขึ้น
ด้วยความเชื่อว่าความคิดเรื่อง Silk and Road Initiative เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จีนจึงไม่รอช้าอีกต่อไป เริ่มจัดการประชุมโครงการ BRI เป็นครั้งแรกขึ้นที่กรุงปักกิ่งในปี 2017 ครั้งนั้นมีผู้นำระดับประเทศเข้าร่วมประชุม 29 ประเทศ ตัวแทนภาครัฐและองค์กรเอกชนต่าง ๆ ที่สนใจเข้าประชุมอีก 140 ประเทศ รวมจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมดมากกว่า 1,000 คน
ถัดมาอีก 2 ปีในปี 2019 จีนก็จัดประชุมอีกเป็นครั้งที่ 2 มีผู้นำระดับประเทศเข้าร่วมประชุมเพิ่มขึ้นเป็น 37 ประเทศ เจ้าหน้าที่และองค์กรจากประเทศต่าง ๆ อีก 150 ประเทศ รวมผู้เข้าประชุมทั้งหมดกว่า 6,000 คน จาก 150 ประเทศ ครั้งนี้เลขาธิการสหประชาชาติก็สนใจเดินทางมาร่วมประชุมด้วย จำนวนผู้นำประเทศและผู้เข้าประชุมจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นกว่าครั้งแรกอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อทั่วโลกเกิดโรคระบาดโควิด BRI หันไปประชุมผ่านออนไลน์อยู่ 2 ครั้ง จนเมื่อสถานการณ์สงบดีแล้ว จีนถือโอกาสนี้ซึ่งบังเอิญไปตรงกับปีที่ 10 ที่ความคิดเรื่อง Belt and Road Initiative ของเขาถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกที่คาซัคสานและอินโดนีเซีย ประกาศเชื้อเชิญประเทศต่าง ๆ ให้เข้าร่วมประชุมแบบเห็นหน้ากันอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านไป มีผู้นำประเทศที่มาด้วยตัวเอง 27 ประเทศ องค์กรและผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ อีกนับหมื่นคน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์จนเจ้าภาพต้องใช้ห้องประชุมศาลาประชาคมอันกว้างใหญ่ ซึ่งปกติใช้สำหรับการประชุม 2 สภาของจีนเป็นที่รองรับ
สุนทรพจน์ของสีจินผิงที่กล่าวในโอกาสนี้ เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ เขาเสนอความคิด 8 ข้อ โดยเน้นบทบาทของจีน ในการที่จะยกระดับคุณภาพของโครงการภายใต้ BRI ให้สูงขึ้นอีก เน้นความโปร่งใสและความถูกต้องในการดำเนินโครงการตามกฎหมายที่จะช่วยกันร่างขึ้น ที่สำคัญคือสิ่งที่จีนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งแต่ละโครงการจะต้องให้ความสนใจ
1) จีนจะเร่งพัฒนาขบวนรถไฟจีน –ยุโรปให้มีคุณภาพสูงขึ้น สร้างถนนที่เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ ๆ เร่งรัดการสร้างเส้นทางสายไหมทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ ทำให้การติดต่อไปมาระหว่างกันเป็นเครือข่ายสามมิติที่มีทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ
2) สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างให้กับการค้าและการลงทุน ทำสัญญาการค้ากับประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น ปฏิบัติตามกฎการค้าเสรีที่เป็นมาตรฐานอย่างเคร่งครัดกับทุกประเทศ
3) ธนาคารกลางของจีนจะระดมทุนให้ได้ 350,000 ล้านหยวน เพิ่มวงเงินให้กับกองทุนสายไหม 80,000 ล้านหยวน ซึ่งจะช่วยเหลือโครงการขนาดเล็กต่าง ๆ ได้มากกว่า 1,000 โครงการ
4) เน้นให้โครงการต่าง ๆ ใช้หลักการพัฒนาที่เป็นสีเขียว ใช้พลังงานสีเขียว จีนจะเปิดอบรมสร้างผู้เชี่ยวชาญการใช้โซล่าเซลล์ และการผลิตที่ใช้คาร์บอนต่ำ คาดว่าถึงปี 2030 จะเปิดอบรมได้ถึงแสนครั้ง
5) ภายใน 5 ปีจีนจะจัดประชุมเกี่ยวกับนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ สนับสนุนให้เยาวชนจากประเทศต่าง ๆ มาฝึกอบรมระยะสั้นในประเทศจีน
6) ทางด้าน soft culture จีนสนับสนุนให้ประชาชนประเทศต่าง ๆ มีโอกาสไปมาหาสู่กัน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ทำให้เมืองต่าง ๆ บนเส้นทางสายไหมเป็นพันธมิตรกันทางด้านการท่องเที่ยว และเป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นระหว่างกัน
7) ทำให้โครงการ BRI เป็นโครงการที่โปร่งใสและมีอนาคต มีระบบการประเมินความถูกต้องโปร่งใสในการทำโครงการร่วมกันกับประเทศต่าง ๆ
8) จีนจะสร้างกลไกความร่วมมือทุกด้านให้สมบูรณ์ เช่น ด้านพลังงาน การจัดเก็บภาษี การเงิน การพัฒนาสีเขียว การต่อต้านคอรัปชั่น ฯลฯ และจะก่อตั้งสำนักงานเลขานุการที่ประชุมสุดยอด เพื่อเรียกประชุมสุดยอดปรึกษาหารือกันเป็นประจำ