จีนชี้ ปฏิบัติตามแผน “สองรัฐ” เป็นแนวทางพื้นฐานในการแก้ไขความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล

2023-10-23 12:26:43 | CMG
Share with:


วันที่ 21 ตุลาคม นายไจ๋ จุ้น ทูตพิเศษของจีนด้านกิจการตะวันออกกลางเน้นย้ำว่า การปฏิบัติตามแผน “สองรัฐ” และสร้างประเทศปาเลสไตน์ที่เป็นเอกราชเป็นแนวทางพื้นฐานในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล

ทูตพิเศษของรัฐบาลจีนกล่าวเช่นนี้ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดไคโรเพื่อสันติภาพ ที่จัดขึ้นโดยนายอับเดล-ฟัตตาห์ อัล-ซีซีประธานาธิบดีอียิปต์ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ในฉนวนกาซา

นายไจ๋ จุ้น ยังกล่าวด้วยว่า จีนได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอลอย่างใกล้ชิด และมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีพลเรือนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม   จีนประณามการกระทำทั้งหมดที่ทำร้ายพลเรือน  คัดค้านการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเรียกร้องให้ยุติปฏิบัติการทางทหารที่อาจทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้นทันที  และให้เปิดช่องทางเพื่อบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม

ทูตจีนเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศยึดหลักปฏิบัติตามความเป็นจริง และความเที่ยงธรรมในการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์  พร้อมทั้งใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรม โดยยังเสนอแนะว่า สหประชาชาติควรจัดการประชุมสันติภาพระหว่างประเทศที่มีอำนาจ บทบาท และครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยเร็ว  เพื่อระดมฉันทามติระหว่างประเทศในการส่งเสริมสันติภาพ และขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นายไจ๋ จุ้นกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอลที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า ปัญหาปาเลสไตน์ไม่ควรถูกเพิกเฉยและละเลย แนวทางขั้นพื้นฐานในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอลคือ การปฏิบัติตามแผน “สองรัฐ” และสร้างประเทศปาเลสไตน์ที่เป็นเอกราช   เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล

ทูตพิเศษจีนทิ้งท้ายว่า จีนจะยังคงทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของประชาคมระหว่างประเทศ โดยจะใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อยุติความขัดแย้งในฉนวนกาซาโดยเร็วที่สุด สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในการฟื้นฟูสิทธิอันชอบธรรมของตน   สนับสนุนการปฏิบัติตามแผน “สองรัฐ”   เพื่อบรรลุสันติภาพ ความมั่นคงที่ยั่งยืนในตะวันออกกลาง

การประชุมสุดยอดดังกล่าวมีผู้นำและตัวแทนจาก 31 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงอียิปต์ ปาเลสไตน์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน มอริเตเนีย แอฟริกาใต้ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น บราซิล และรัสเซีย

เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสหประชาชาติ สันนิบาตอาหรับ สหภาพแอฟริกา สหภาพยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคอื่นๆ เข้าร่วมการประชุมด้วย


(bo/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-09-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-09-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (18-09-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (17-09-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (17-09-2567)