วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2001 หนิง หยวนเจิน จ้าหน้าที่รุ่นเก่าที่เกษียณอายุจากกรมอาหารมณฑลฝูเจี้ยน ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนอย่างตั้งใจ โดยระบุชื่อผู้รับคือนายสี จิ้นผิง
วันรุ่งขึ้น หลังนายสี จิ้นผิงได้อ่านจดหมาย ก็ได้เขียนคำแนะนำและส่งเรื่องไปยังเฉา เต๋อก้าน รองผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนที่รับผิดชอบทันที โดยสั่งให้เร่งดำเนินการตรวจสอบ พิจารณาและแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
หนิง หยวนเจินได้เสนอปัญหา 5 ประการที่เขารู้ว่ายังมีอยู่ในการบริหารจัดการธัญพืช ได้แก่ ธัญพืชเก่ามีจำนวนมากและเก็บไว้นานเกินไปจนไม่สามารถบริโภคโดยตรง; โกดังเก็บธัญพืชขาดการบำรุงรักษามาเป็นเวลานาน สภาพของยุ้งฉางไม่เอื้อต่อการเก็บรักษา มีปัญหาหลังคารั่วทำให้น้ำฝนเข้าไปได้และมีความชื้นสูงอย่างน่าห่วง หากไม่ใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพมาปรับปรุงการเก็บรักษาให้ดี ธัญพืชในโกดังก็จะเสื่อมสภาพ ยุ้งฉางในท้องถิ่นขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก ภัยจากศัตรูพืชที่เกิดขึ้นกับธัญพืชที่เก็บไว้นั้นอยู่ในขั้นร้ายแรงและไม่สามารถระงับได้; ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง จึงเสี่ยงที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บธัญพืชอย่างเห็นได้ชัด; การค้างค่าจ้างพนักงานเป็นเรื่องปกติ และแรงงานไม่มั่นคงอย่างยิ่ง พนักงานที่มีความยากลำบากในชีวิตจำเป็นต้องออกไปหางานทำในต่างถิ่น ยุ้งฉางหลายแห่งอยู่ในสภาพ "ไร้คน" แล้ว พนักงานดูแลยุ้งฉางเก็บกุญแจไว้ที่สมาชิกครอบครัวของพวกเขา หรือส่งไปที่สถานีกำกับดูแล
ฝูเจี้ยนได้ชื่อว่าเป็นมณฑลที่มี "แปดภูเขาหนึ่งธารน้ำหนึ่งทุ่งนา" จึงขาดแคลนอาหารมาแต่โบราณกาล ในแต่ละปีต้องใช้เงินทุน วัสดุ และกำลังคนจำนวนมากเพื่อสั่งซื้อธัญพืชจากมณฑลอื่น บ่อยครั้งที่ไม่สามารถจัดหาเมล็ดพืชได้แม้จะมีโควต้าการจัดซื้ออยู่ในมือก็ตาม และบางครั้งเมล็ดพืชที่จัดหามาได้นั้นเป็นเมล็ดพืชเก่าที่ไม่สามารถบริโภคได้โดยตรงหรือเป็นเมล็ดพืชที่มีคุณภาพต่ำ
เวลานั้นประเทศจีนกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบหมุนเวียนอาหาร เมื่อครั้งนายสี จิ้นผิง เข้ามารักษาการผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนเมื่อปี ค.ศ. 1999 การปฏิรูปครั้งนี้ได้มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ
คำบรรยายภาพ : นายสี จิ้นผิง ผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนในขณะนั้นกำลังตรวจสอบแหล่งมลพิษหลักของสวนสาธารณะซีหู ณ แม่น้ำผิงซี เมืองฝูโจวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 (ภาพจากหนังสือพิมพ์ไห่เสียตูซื่อ)
การสำรวจสภาพความเป็นจริงรอบใหม่ได้เริ่มขึ้น มณฑลฝูเจี้ยนนอกจากเรียกประชุมพิเศษแล้ว นายสี จิ้นผิงยังลงพื้นที่ไปยังวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร คลังธัญพืช และพื้นที่ผลิตธัญพืช และใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อปฏิบัติตามนโยบายที่รัฐบาลกลางสั่งการมา อันได้แก่ "การแยกออกจากกันสามประการ" (แยกภาครัฐกับวิสาหกิจออกจากกัน แยกอำนาจด้านธัญพืชของส่วนกลางกับท้องถิ่นออกจากกัน และแยกการบริหารจัดการกับการจัดเก็บรักษาออกจากกัน) , "สามระบบ" (ระบบความรับผิดชอบงานเกี่ยวกับอาหารสำหรับหัวหน้าฝ่ายบริหารสามระดับอันได้แก่ มณฑล เมืองและอำเภอ ระบบสำรองเมล็ดพืชสามระดับ และระบบกองทุนความเสี่ยงเมล็ดพืชสามระดับ) , "หนึ่งการปฏิรูป" (การปฏิรูปวิสาหกิจด้านอาหาร)
จากสถานการณ์จริงของการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในระยะยาวของฝูเจี้ยน นายสี จิ้นผิงจึงตัดสินใจเพิ่มความสามารถด้านอุปทานและการเก็บรักษาของฝูเจี้ยนให้เป็นสองเท่าของปริมาณการจัดเก็บธัญพืชที่กำหนดโดยส่วนกลาง สร้างคลังธัญพืชเพิ่มเติม ตลอดจนเพิ่มเงินทุนสำรองเมล็ดพืช และเพิ่มงบประมาณการจัดเก็บเมล็ดพืช
แต่อย่างไรก็ตาม แค่ยึดห่วงโซ่ตลาดอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังต้องเริ่มจากทุ่งนาและขจัดปัญหาจากต้นตอ
“สหายสี จิ้นผิงให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่การเกษตร การก่อสร้างโครงการชลประทาน การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน การเผยแพร่เมล็ดพันธุ์ที่ดี ตลอดจนการยกระดับและปกป้องความสามารถด้านการผลิตอาหาร” นายเฉา เต๋อก้านกล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าสหายสี จิ้นผิงมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากเกี่ยวกับสถานการณ์โดยรวม ไม่ว่าจะทำอะไรต่างก็มีแนวคิดใหญ่ มีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง และยาวไกล”
จากปัญหา "ตะกร้าผัก" นายสี จิ้นผิงได้ค้นพบปัญหาของโครงสร้างการผลิต อุปทาน และการจำหน่าย ทั้งยังได้ค้นพบปัญหาการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ"การเปลี่ยนตลาดสินค้าเกษตรเป็นซุเปอร์มาร์เก็ต" ตลอดจนปัญหาความปลอดภัยของอาหารซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการบริหารจัดการ"มลพิษบนโต๊ะอาหาร" จึงสามารถค้นพบข้อบกพร่องของระบบ นำมาซึ่งการสร้างระบบตรวจสอบแบบครบวงจรตั้งแต่ท้องนาจนถึงโต๊ะอาหาร “เรื่องเล็กๆน้อยๆที่ปลายลิ้น”นี้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันเป็นหนึ่งในความกังวลที่ใหญ่ที่สุดของประชาชน และก็เป็นประเด็นสำคัญในใจของนายสี จิ้นผิง มาโดยตลอด
ระหว่างวันที่ 23 - 24 ธันวาคม ค.ศ.2013 มีการประชุมว่าด้วยงานชนบทของส่วนกลางที่กรุงปักกิ่ง เลขาธิการใหญ่สี จิ้นผิงเน้นย้ำว่าต้นตอความปลอดภัยของอาหารอยู่ที่ผลิตภัณฑ์การเกษตรและปัญหานี้มีรากฐานอยู่ที่การเกษตร จำต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ในลำดับแรกต้องเข้มงวดกวดขันคุณภาพของผลิตภัณฑ์การเกษตรให้ดี ต้องถือคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรเป็นห่วงโซ่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงวิธีการพัฒนาการเกษตรและเร่งสร้างสรรค์การเกษตรสมัยใหม่ ต้องประกัน"ความปลอดภัยที่ปลายลิ้น" ของประชาชนด้วยมาตรฐานที่รัดกุมที่สุด การกำกับดูแลที่เข้มงวดที่สุด บทลงโทษที่รุนแรงที่สุด และกำหนดให้ต้องมีผู้รับผิดชอบอย่างเคร่งครัดที่สุด
วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2019 "ระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน" ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ระเบียบฉบับนี้เข้มงวดกวดขันมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเด็นความปลอดภัยอาหาร ได้เพิ่มระบบ "การลงโทษถึงบุคคล" ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดถึงข้อกำหนด "สี่ประการที่เข้มงวดที่สุด" ในแวดวงอาหารและยา
IN/LU