รถไฟใต้ดิน “สายตะกร้า”ที่นครฉงชิ่ง

2023-12-04 16:25:44 | CRI
Share with:

นครฉงชิ่งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตอนเช้าฟ้ายังไม่สาง แต่ที่สถานีสือฉวน (石船站) ของทางรถไฟใต้ดินสาย 4  จะไม่เงียบสงบเหมือนสถานีอื่นๆ ที่อยู่ในเมือง เพราะมีชาวนาชาวไร่จำนวนมากที่แบกตะกร้าใส่ผักสดเต็ม เช่น บวบ ฟักทอง ผักบุ้ง มันเทศ ฯลฯ กำลังคุยกันอย่างถูกคอขณะรอประตูสถานีเปิด พวกเขาส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่มาจากตำบลสือฉวนที่อยู่ใกล้ๆ และมีส่วนหนึ่งมาจากหมู่บ้านตำบลอื่นๆ โดยจะนั่งรถไฟใต้ดินเที่ยวแรกเพื่อนำเอาผักสดที่ปลูกเองไปขายในเมือง 

ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2022 ที่นะครฉงชิ่งได้เปิดใช้งานทางรถไฟใต้ดินสาย 4 ระยะที่ 2 ที่เชื่อมต่อเขตชนบทกับตัวเมือง ก็มีเกษตรกรผู้ปลูกผักไปนั่งรถไฟใต้ดินสถานีสือฉวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผู้คนจึงพากันตั้งชื่อให้กับรถไฟใต้ดินสายนี้ว่า รถไฟใต้ดิน “สายตะกร้า” 

หลังเปิดใช้งานทางรถไฟใต้ดิน “สายตะกร้า” แล้ว เหล่าชาวไร่ชาวสวนที่แต่ก่อนขายผักในตลาดของตำบลจำนวนหนึ่งก็เริ่มขนผักเข้าไปขายในเมือง

หนุ่มคนหนึ่งในหมู่บ้านบอกกับคุณลุงกัว หย่งว่า คนซื้อผักในเมืองค่อนข้างมาก ตอนเช้าก็สามารถขายได้หลายสิบกิโลกรัม และราคาสูงกว่าขายที่ตำบลเราไม่น้อย อย่างเช่นผักบุ้ง ขายในตำบลกิโลฯ หนึ่งไม่ถึง 2 หยวน แต่ขายในเมืองจะได้ 5 หยวน 

คุณลุงกัว หย่งกับภรรยาอยู่ในตำบลสือฉวนมาเกือบชั่วชีวิต แม้ว่าห่างจากนครฉงชิ่งเพียงกว่า 40 กิโลเมตรเท่านั้น แต่สามีภรรยาคู่นี้ไม่เคยเข้าเมือง ไม่เคยนั่งรถไฟใต้ดิน เพราะเห็นว่านี่เป็นเรื่องของคนวัยรุ่น แต่เมื่อได้รู้ว่าจะสามารถขายผักในราคาที่สูงกว่าเกือบ 1 เท่า คุณลุงจึงตัดสินใจนำเอาผักไปขายในเมือง

หนุ่มคนหนึ่งในหมู่บ้านช่วยคุณลุงกัว หย่งและภรรยาซื้อบัตรโดยสารเรียบร้อย สิ่งที่ทำให้คุณลุงรู้สึกดีใจมากคือ เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุเกินกว่า 65 ปี พวกเขาจะได้นั่งรถไฟใต้ดินฟรี  การเข้าเมืองไปมาครั้งหนึ่งจะประหยัดเงินอย่างน้อย 10 หยวน 

คุณลุงกัว หย่งกับภรรยาตามเพื่อนๆ ในหมู่บ้านไปขายผักในเมืองหลายครั้ง เริ่มแรกไม่รู้จักสถานี ไม่รู้วิธีรูดบัตรโดยสาร แต่จนถึงปัจจุบัน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ สามารถวิ่งขึ้นรถไฟไปแย่งที่นั่ง ต่อรถใต้ดินอย่างคล่องแคล่ว ทุกสัปดาห์จะมี 5 วันที่สามีภรรยาจะนั่งรถไฟใต้ดินประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งไปถึงสะพานเจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นหนึ่งในเขตที่คึกคักที่สุดของนครฉงชิ่ง ขายผักที่ปลูกเองหลายสิบกิโลกรัมให้หมดก่อนเที่ยงวัน   บางทีก็ทันที่กลับไปทานข้าวเที่ยงที่บ้าน

คุณลุงกัว หย่งเล่าว่า เราทำงานตลอดชีวิต แม้ว่าอายุมากแล้ว แต่ถ้าให้เราอยู่เฉยๆในบ้าน จิตใจและร่างกายจะไม่สบาย จึงต้องหาอะไรมาทำสักอย่าง

ที่ตำบลสือฉวนมีชาวสวนที่ปลูกผักค่อนข้างมาก การขายผักสดในตลาดท้องถิ่นจะได้เงินไม่มาก นางหลิว เหวินกุ้ยชาวนาท้องถิ่นกำลังแบกตะกร้าที่มีใส่ผักสดเกือบ 20 กิโลกรัมไปรอรถไฟ เธอเล่าว่า “ก่อนเปิดรถไฟใต้ดินสายนี้ เรานำผักไปขายในเมืองจะต้องต่อรถยนต์ 3 ต่อ ใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ปัจจุบันใช้เวลาชั่วโมงเดียวก็เข้าถึงตัวเมืองแล้ว”

คุณลุงไป๋ สื่อปินอายุ 70 ปี เล่าไปยิ้มไปว่า เรามาจากตำบลลั่วจือ ต้องขับรถ 3 ล้อเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงกว่าจะมาถึงสถานีสือฉวน เพื่อนๆ ในหมู่บ้านบอกกับเราว่า นั่งรถไฟใต้ดินไปขายผักในเมืองจะดีกว่า คนแก่ที่มีอายุมากเหมือนกับเรายังได้นั่งรถฟรีด้วย ผมจะเอาผักเหล่านี้ไปขายที่ชุมชนหมินซินเจียหยวน เพราะขายผักที่หมู่บ้านตำบลของเราจะได้แค่กิโลละประมาณ 6 หยวน แต่ขายในเมืองจะขายได้ประมาณ 10 หยวน

เวลา 7 โมงเช้า รถไฟไปถึงสถานีอวี๋จุ่ย คุณลุงจาง อี้หยุนกับชาวสวนหลายคนลงจากรถ เดินทางอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนคนแก่ที่แบกตะกร้าหนักหลายสิบกิโลกรัม เขาไปถึงตลาดแล้ว ก็หามุมว่างแห่งหนึ่งตั้งขายผัก ไม่ถึง 10โมงเช้าก็ขายหมด แล้วขึ้นรถไฟใต้ดินกลับบ้าน เขากล่าวยิ้มๆว่า ตอนเช้าขายได้เงินกว่าร้อยหยวน สำหรับชาวนาเรา นี่เป็นราคาที่ดีนะ 

นายหลี่ จงเหรินเป็นยามของสถานีสือฉวน เขามักจะฟังเสียงคุยกันของเหล่าชาวนาชาวไร่อย่างเงียบๆ แต่เมื่อเห็นคุณป้าคุณลุงที่เป็นผู้สูงอายุ ที่กำลังแบกของหนักอยู่ เดินทางลำบากและช้า เขามักจะไปช่วยพวกเขาขึ้นรถ และช่วยเอาตะกร้าขึ้นไปวางบนพื้นรถไฟ เขากล่าวว่า หลังจากเปิดรถไฟใต้ดินสาย 4 ระยะที่ 2 แล้ว ชาวนาชาวไร่จำนวนหนึ่งกลายเป็นคนคุ้นหน้าตาคุ้นตาและคุ้นเคยกัน ผมมักจะไปช่วยพวกเขาเหมือนกับเพื่อนเก่า

การเข้าสถานีรถไฟในจีน กระเป๋าใบใหญ่ของผู้โดยสารจะต้องผ่านอุปกรณ์ตรวจความปลอดภัย แต่เมื่อเห็นเหล่าชาวนาชาวสวนผู้สูงอายุแบกตะกร้าใส่ผักเต็มค่อนข้างหนัก พนักงานสถานีรถไฟใต้ดินจะให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ อย่างเช่นผู้สูงอายุไม่ต้องเอาตะกร้าลงไปวางบนสายพานลำเลียงตรวจความปลอดภัย เพียงแต่ใช้อุปกรณ์ตรวจความปลอดภัยแบบพกพาสแกนสิ่งของของพวกเขาเท่านั้น บางทีก็ช่วยชาวนาผู้สูงอายุถือตะกร้า ช่วยแนะนำคนแก่ขึ้นลิฟต์ และชี้ทางให้คนแก่ที่ไม่รู้หนังสือ เป็นต้น

รถไฟใต้ดินในเมืองบางแห่งของจีนมีข้อกำหนดว่า ห้ามดื่นน้ำและเครื่องดื่มบนรถไฟ เพราะอาจจะมีน้ำหกลงบนพื้น ทำให้พื้นเลื่อน และทำให้ผู้โดยสารคนอื่นลื่นล้ม

แต่ที่รถไฟใต้ดินนครฉงชิ่งไม่มีปัญหานี้ พนักงานของรถไฟใต้ดินกล่าวว่า ผักสดที่เหล่าชาวไร่ชาวนาเอามานั้น คือเก็บในตอนเช้า มีน้ำติดกับผักสดอยู่แล้ว ถ้ามีน้ำหยดลงบนพื้นทำให้ลื่น เรามีพนักงานทำความสะอาดโดยเฉพาะ ส่วนเราเองก็จะไปช่วยจัดการด้วย ไม่มีปัญหา

มีคนถามว่า ชาวนาเอาผักสดขึ้นรถไปขายในเมือง จะรบกวนผู้โดยสารคนอื่นๆ ไหม? พนักงานรถไฟใต้ดินตอบว่า “ผมคิดว่าผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจชาวนาเหล่านี้ เรามีเพียงข้อกำหนดที่ไม่ให้เอาเป็ดไก่สัตว์เลี้ยงขึ้นรถ สำหรับผักดองที่มีกลิ่นแรง ถ้ามีการบรรจุหีบห่อเรียบร้อย ก็สามารถเอาขึ้นรถได้”

เรื่องราวดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่อบอุ่นหัวใจ เป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์ต้องการ

  • เสียงข่าวประจำวัน (03-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (03-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (03-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)