เหลียวหลัง แลหน้า การสื่อสารวัฒนธรรมจีน-ไทย ถึงเวลาหรือยังที่ต้องผนึกกำลังกัน

2023-12-12 11:28:22 | CMG
Share with:

ประเทศไทยนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากที่สุด นับตั้งแต่ภูมิประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยช่วงนี้หากใครได้ดูละครโทรทัศน์เรื่องพรหมลิขิตที่เป็นภาคต่อของบุพเพสันนิวาส ก็จะพบคนจีนในหน้าประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างออกญาโกษาธิบดี(จีน)  ซึ่งจริงๆแล้ว ความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้นยังสามารถสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปได้ไกลถึงสมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้าเลยทีเดียว

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหาร China Media Group ที่มาเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ และ ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งประเทศไทยและจีน ที่มาเข้าร่วมประชุม ต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หนึ่งในหลายสิ่งที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีประสิทธิภาพ ก็คือการใช้การสื่อสารด้านวัฒนธรรมเป็นสื่อกลาง

โดยผู้เขียนได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยไปพบเยาวชนที่ต่างจังหวัดที่พูดภาษาจีนได้ดีมากทั้งคำศัพท์ภาษาจีนที่ดู ชำนาญในการใช้และสำเนียงการพูดที่ดูเป็นธรรมชาติ ทั้งที่ไม่เคยไปเรียนที่ประเทศจีนเลย ซึ่งก็เพราะเพียงแค่เยาวชนคนนี้มีความชอบในการดูภาพยนตร์และละครจีน พร้อมทั้งการฝึกฝนตาม ทำให้เกิดทักษะมากกว่าที่เรียนในห้องเรียน

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวอย่างที่เราได้พบในประเทศไทย ที่การสร้างแรงบันดาลใจให้ผลสำเร็จที่ยั่งยืนกว่าการบังคับเรียน  นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลนั้น ก็มีหลายคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลในการเรียนให้ตัวเองจนประสบความสำเร็จในหลากหลายรูปแบบ มีนักศึกษาอยู่ 3 คนที่พอจะเป็นตัวอย่างได้อย่างดี สองคนแรกเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากที่ไม่มีพื้นฐาน ด้านภาษาจีนเลยในปีแรกของการเรียนในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็สามารถไปคว้ารางวัลที่หนึ่งจากการแข่งขันระดับประเทศด้านภาษาจีน กับ อีกคนหนึ่งได้เรียนต่อที่ประเทศจีนจบระดับปริญญาเอกโดยทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ในเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรมจีน สามก๊ก ที่ตนสนใจด้วย

นอกจากนี้วัฒนธรรมจีนในไทยนั้นเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกและอยู่ในใจประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ทั้งในงานวรรณกรรมอมตะทั้งหลาย  ไซอิ๋ว สามก๊ก ความฝันในหอแดง และซ้องกั๋ง  ไปจนถึงวัฒนธรรมจีนในงานเทศกาลที่คนไทยเองก็ร่วมฉลองไปด้วยในแทบทุกเทศกาล เช่น ตรุษจีน(ชุนเจี๋ย) , ไหว้พระจันทร์(จงชิวเจี๋ย) และ เทศกาลบ๊ะจ่าง(ตวนอู่เจี๋ย)ซึ่งนอกเหนือจากวัฒนธรรมดั้งเดิม เหล่านี้แล้ว กลุ่มวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น ภาพยนตร์ , ละครโทรทัศน์ , ดารา , นักร้อง ไปจนถึงอาหารจีน ก็แพร่หลายมากขึ้นทุกที อย่าง ณ วันนี้ จะมีคนไทยสักกี่คนที่จะไม่รู้จัก หมาล่า และ หั่วกัว(หม้อไฟ) ของจีน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นับว่าเป็นต้นทุนอันดี ต่อการเชื่อมความรู้สึกใกล้ชิดให้กับประชาชนชาวไทยและจีน ให้เสมือนเป็นญาติมิตรครอบครัวเดียวกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเสมือน “กาวใจ”ที่ทำให้คำว่า“ไทยจีนมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”ยังคงไม่เลือนหายไปจากใจของประชาชนทั้งสองประเทศ แม้จะมีสิ่งที่ขุ่นข้องหมองใจกันไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในจุดที่พร้อมที่จะประสานความเข้าใจกันโดยง่าย

แต่เมื่อมองไปในอนาคตระยะยาว โลกที่รายล้อมไปด้วยชนวนแห่งความเข้าใจผิดและมีจุดที่อาจจะก่อความขัดแย้งทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ การป้องกันไว้ย่อมดีกว่าแก้  สิ่งที่ควรให้ความสำคัญก็คือการเชื่อมโยงกันให้แนบแน่น ลึกซึ้ง พร้อมรับต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการสื่อสารวัฒนธรรมในรูปแบบที่แลกเปลี่ยนกันทั้งสองฝ่ายอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนทางเดียว  ซึ่งหากความสัมพันธ์แนบแน่นกันจริง ความเข้าใจผิดระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้  อันนี้ถือเป็นหน้าที่หลักของสื่อมวลชนไทย-จีน ที่สามารถช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ และ ทั้งสองประเทศก็ได้รับประโยชน์ต่อกันในหลายๆ มิติ  ทั้งหมดมีเป้าหมายไปเพื่อประโยชน์ร่วมของประชาชนดังคำจีน ที่ว่า “ใจประชารวมเป็นหนึ่ง” (หมินซินเซียงทง) ซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกคนคงเล็งเห็นประโยชน์ร่วม และ ควรร่วมกันสร้างสรรค์ พัฒนา เดินหน้าไป ด้วยกัน

ผู้เขียนมีความชื่นชมในปรัชญาของหมากล้อม(เหวยฉี) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกของจีนเป็นการส่วนตัว สิ่งหนึ่งที่หมาก ล้อมสอนเอาไว้ก็คือ “การเชื่อมโยงเครือข่ายใหญ่น้อยเข้าด้วยกัน จะนำมาซึ่งพื้นที่และความมั่นคง ซึ่งเป็นการได้ชัยโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปชิงชัย” หากใช้หลักคิดหมากล้อมนี้มาวิเคราะห์ จะพบว่าเครือข่ายผู้ที่มีความชมชอบในวัฒนธรรมจีนนั้น มีอยู่ทั่วประเทศไทย จริงๆ ควรกล่าวว่าอยู่ทั่วทุกมุมโลก การสื่อสารโดยมีวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางนั้น หากทำได้ครบ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เข้าถึงประชาชน , สอง ประสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และ สาม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการใช้ชีวิต เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ทุกดวงใจไม่ออกห่างไปจากวัฒนธรรมจีน-ไทย ไปเลย และการได้พื้นที่ในใจด้วยไมตรีนั้น จะเป็นสิ่งที่มั่นคงยาวนานเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าวิธีการอื่นๆ

ซึ่งการจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้นั้น ต้องอาศัยความตั้งใจบนพื้นฐานของความเข้าใจ มองประโยชน์ร่วมกัน(ก้งอิ๋ง)เป็นที่ตั้ง  “ป่าใหญ่เกิดจากต้นไม้ฉันใด ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดจากประชาชนฉันนั้น”


โดย อ.เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย)

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (02-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (01-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (01-05-2567)