CISCE กับการพัฒนาระดับโลก

2023-12-14 15:10:04 | CMG
Share with:

โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์

ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคมที่ผ่านมา จีนได้จัดงานแสดงสินค้าภายใต้แนวคิดห่วงโซ่อุปทานโลกเป็นครั้งแรก งานนี้จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง มีชื่อว่า China International Supply Chain Expo หรือ CISCE รายงานข่าวบางแห่งเผยว่า ราว 1 ใน 4 ของผู้จัดแสดงมาจากต่างประเทศ และ 1 ใน 3 ของผู้จัดแสดงต่างประเทศมาจากยุโรปและสหรัฐฯ บางส่วนมาจากกลุ่ม Fortune Global 500 ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่าประกอบการอยู่ที่ 500 ลำดับแรกของโลก CISCE จึงไม่ใช่งานท้องถิ่น แต่เป็นงานซึ่งทรงอิทธิพลสำหรับการค้าการลงทุนระดับนานาชาติ

ต้องทราบก่อนว่า CISCE ต่างจากงานแสดงสินค้าทั่วไปตรงที่เน้นการพบปะกันระหว่างผู้ประกอบการในสายการผลิตเดียวกัน นับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งยังประสานความร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดกลาง เล็ก และใหญ่ รวมทั้งระหว่างภาคอุตสาหกรรม วิชาการ และวิจัย แต่งานแสดงสินค้าทั่วไปจะให้น้ำหนักแก่การจัดแสดงผลิตภัณฑ์กับบริการเพื่อเปิดตัว หรือ ขยายตลาดของผู้ประกอบการ

CISCE เป็นความพยายามของจีนในการแสดงบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก แนวทางของ CISCE มาจากการที่จีนเห็นความสำคัญของภาคส่วนต่าง ๆ ในสายการผลิตเดียวกันมากกว่าจะมองแค่ตัวผลิตภัณฑ์ เพราะมูลค่าซัพพลายในแต่ละสายการผลิตสามารถส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง อย่างประเทศจีนเอง แม้จะเป็นผู้ผลิตรายหลักของโลกและอุดมไปด้วยทรัพยากรการผลิต จีนก็ยังคงต้องการซัพพลายจากต่างประเทศ เช่น เคมีภัณฑ์ พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ ฯลฯ เพื่อประกอบการผลิตสินค้าให้สมบูรณ์

แต่ที่ผ่านมา ระบบห่วงโซ่อุปทานกลับสะดุดอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากสงครามการค้า ถัดจากนั้นโลกก็เผชิญกับวิกฤตโรคระบาดจนกระทบกระบวนการผลิตและการให้บริการอีกหลายอย่าง ถ้าให้เห็นภาพชัดขึ้น ต้องนึกถึงประเทศไทยช่วงโควิด เพราะราว 8.4 ล้านคนว่างงาน ณ เวลาที่มีการระบาดขั้นรุนแรง 1.5 ล้านคนมาจากสายงานผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลังจากเจอข้อติดขัดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ไม่มีทั้งการป้อนเข้าโรงงานและส่งออก การฟื้นตัวอาจจะกำลังเกิดในอัตราเร่งทั่วโลก แต่หลักประกันสำหรับความร่วมมือโดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดนยังคงคลุมเครือ เวทีเสริมสร้างความร่วมมือจึงเป็นอาหารเสริมชั้นดีให้แก่ธุรกิจทั่วโลก ด้วยเวทีดังกล่าวจะช่วยตอกย้ำความไหลลื่นของเงินทุน ทรัพยากร และเทคโนโลยี ทำให้ CISCE เป็นทางเลือกสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการทำธุรกิจกับจีน หรือ ใช้เป็นช่องทางแสวงหาความร่วมมือกับชาติอื่น

น่าสนใจที่การจัด CISCE ไม่ได้เป็นไปตามขนบทุนนิยม แต่กลับสอดคล้องกับความรับผิดชอบตามวาระการพัฒนาสมัยใหม่ ลักษณะงานตรงกับคำประกาศของจีนเรื่องการเดินหน้าเศรษฐกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ในการนี้ CISCE เน้นห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ 5 สาขา ได้แก่ ยานยนต์อัจฉริยะ เกษตรกรรมสีเขียว พลังงานสะอาด เทคโนโลยีดิจิตอล และสุขภาพ โดย CISCE เปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มการผลิตแบบใหม่ ไม่ใช่แบบดั้งเดิม ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเป็นห่วงโซ่อุปทานกลุ่มยานยนต์อัจฉริยะ CISCE จะเปิดพื้นที่จัดแสดงให้แก่

• กลุ่มต้นน้ำ - ชิพ วัสดุผลิตแบตเตอร์รี่ การออกแบบรถ

• กลุ่มกลางน้ำ - เทคโนโลยีแบตเตอร์รี่ อุปกรณ์ขับเคลื่อน ระบบปัญญาประดิษฐ์

• กลุ่มปลายน้ำ - การประกอบเครื่องยนต์กับตัวถัง

• กลุ่มบริการ - การขาย การประกัน การรีไซเคิลแบตเตอร์รี่

นอกจากนี้ CISCE ได้นำเสนอฟอรั่มหารือความร่วมมือเกี่ยวกับธุรกิจ 5 สาขาที่ว่าซึ่งมีแนวโน้มจะตั้งมั่นเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

อย่างไรก็ดี CISCE พยายามครอบคลุมการจัดแสดงของธุรกิจกลุ่มบริการอย่างธนาคาร ประกันภัย วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอีกมากมาย CISCE จึงไม่ต่างจากเสียงของจีนที่ต้องการสื่อสารกับประชาคมนานาชาติในฐานะโรงงานผลิตและฝ่ายประสานงานของโลก การเลือกจัดงานภายใต้แนวคิดห่วงโซ่อุปทานทำให้เห็นภาพชัดว่า ธุรกิจปัจจุบันมีความเกี่ยวเนื่องกันจนมองแยกขาดจากกันไม่ได้ ความเกี่ยวเนื่องหลายอย่างเกิดขึ้นในลักษณะข้ามพรมแดน ดังนั้นหากความมั่นคงทางเศรษฐกิจถูกคุกคามในพื้นที่หนึ่งจนทำลายซัพพลายของพื้นที่นั้น การผลิตในพื้นที่อื่นก็จะชะลอตัวจนอาจถึงขั้นยุติ เศรษฐกิจไม่ได้ถูกเชื่อมโยงด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์ หรือ การลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่มันถูกเชื่อมโยงด้วยกระบวนการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นออกแบบวางแผน

เมื่อพิจารณาในแง่นี้ CISCE จึงไม่ใช่การแสดงศักยภาพทางการค้าการลงทุนแบบอวดโอ่ แต่ช่วยยืนยันบทบาทของจีนในฐานะผู้ร่วมรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ หากไม่เป็นการกล่าวเกินจริง CISCE ก็คือหนึ่งในภารกิจของจีนตามประกาศข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลกซึ่งมีด้วยกัน 5 ประการ โดยประการที่ 5 ย้ำว่า โลกต้องเดินตามกระแสของยุคสมัย ต้องเปิดกว้างต่อกัน มีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านตลาด ระบบอุตสาหกรรม และกฎหมาย ขณะที่นวัตกรรมกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องเป็นหัวใจของการพัฒนา

กล่าวในอีกแง่ CISCE ก็คือการเปิดโลกทัศน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า โลกถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันมานานในลักษณะของเครือข่ายการผลิต มีความซับซ้อนในเชิงของการพึ่งพาและสามารถส่งผลต่อกันเป็นโดมิโน่ ให้คิดถึงกรณีของไทย แม้ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือ ประเทศไทยก็อาจได้รับผลกระทบจากการสูญเสียตลาดโทรศัพท์ของจีน เพราะไทยคือผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน ถ้าการส่งออกมีปัญหา การจ้างงานก็จะมีปัญหาตามมา ฉะนั้นก้าวย่างในอนาคตต้องผ่านการตกผลึกข้อนี้ โลกจะก้าวเดินไปข้างหน้าไม่ได้ถ้าต่างคนต่างอยู่ และความมั่นคงมั่งคั่งจะเป็นจริงไม่ได้ถ้ามีการเลือกข้างทางธุรกิจ

การได้เรียนรู้เกี่ยวกับ CISCE จะช่วยให้ประเทศไทยเห็นบทบาทของจีนมากกว่าการเป็นคู่แข่งขันทางอำนาจของกลุ่ม G7 รวมทั้งทราบความเป็นไปทางเศรษฐกิจกับความร่วมมือระหว่างประเทศที่อาจวิวัฒน์ไปอีกทาง

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (02-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (01-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (01-05-2567)